สกอ.เร่งลงพื้นที่ตรวจมหา'ลัยรัฐ-เอกชนทุกแห่งที่เปิดหลักสูตรปริญญาเอกทุกสาขาวิชา "เลขาฯ กกอ." ย้ำชัดไม่เลือกปฏิบัติ แต่จะปล่อยให้มี "ดอกเตอร์" จำนวนมาก แต่ไม่มีคุณภาพไม่ได้ บางแห่งเรียนแค่ปีเดียวก็จบ ด้าน "ดาว์พงษ์" ลั่นกรณีปลดอธิการบดี มทร.ตะวันออกสะท้อนหากธรรมาภิบาลมหา'ลัยเข้มแข็ง ใครก็ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่ ศธ. ก็ยุ่งไม่ได้
นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า ตามที่ กกอ.ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ติดตามตรวจสอบการจัดการ เรียนการสอนของหลักสูตรปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เนื่องจากพบว่าการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาเอกในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องคุณภาพนั้น ทาง สกอ.ได้ให้สำนักติดตามและประเมินผลอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของ สกอ. ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก โดยเบื้องต้นขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบในบางสาขา บางคณะและบางมหาวิทยาลัยแล้ว จะเริ่มจากมหาวิทยาลัยที่มีข้อร้องเรียน ก่อนจะขยายครอบคลุมไปให้ครบทุกมหาวิทยาลัย ทุกหลักสูตรปริญญาเอก เพราะการเรียนในระดับปริญญาเอกมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ต้องเป็นการเรียนศึกษาวิจัยเชิงลึก ไม่ใช่เพียงเข้าไปเรียนเพียงปีเดียวแล้วจบ อีกทั้งจะปล่อยให้มีดอกเตอร์ (ดร.) จำนวนมาก แต่ไม่มีคุณภาพไม่ได้
"ขณะนี้มีข้อร้องเรียนเรื่องการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ เข้ามาจำนวนมาก ซึ่ง สกอ.ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างเร่งด่วน สำหรับการตรวจสอบจะดำเนินการทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่มีปัญหาข้อร้องเรียนเข้ามาที่ สกอ. ไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติว่าเป็นมหาวิทยาลัยใด" เลขาฯ กกอ.กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้ากรณีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ที่มีการเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ จำนวน 2,500 คน เกินจำนวนตามที่แจ้งให้ กกอ.รับทราบที่ให้เปิดรับนักศึกษาได้เพียง 500 คนนั้น ทาง สกอ.ได้ทำงานร่วมกับทางคุรุสภาในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะรายงานข้อมูลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เร็วๆ นี้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก มีมติปลดนายสิน พันธ์พินิจ ให้พ้นจากการเป็นอธิการบดี มทร.ตะวันออก เนื่องจากหย่อนสมรรถภาพและบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ว่าเป็นการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจทำได้ สำหรับผู้ที่ถูกปลดก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ สกอ.ได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย และแม้ว่าจะเกิดปัญหา แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องคำนึงและสร้างกลไกธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็ง ถ้าธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยเข้มแข็ง แน่นอนว่าปัญหาต่างๆ ศธ.จะไม่เข้าไปยุ่ง และในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ตนได้เชิญประธานที่ประชุมอธิการดีแห่งประเทศไทย (ประธาน ทปอ.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ประธาน ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดี รวมถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) เพื่อมาหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการรับนักศึกษาเกินกว่ามาตรฐานของ สกอ. แต่คาดว่าจะพูดถึงเรื่องธรรมาภิบาลด้วย
ด้านนางคมเดือน โพธิสุวรรณ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มทร.ตะวันออก แกนนำที่ร้องเรียนให้มีการยุบสภา มทร.ตะวันออก กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มแกนนำได้มีการจัดทำร่างหนังสือเพื่อยื่นศาลปกครอง สั่งคุ้มครองชั่วคราวนายสิน เพราะนายสินไม่ได้มีความผิดอะไร การถอดถอนดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรม อีกทั้งถ้าศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวนายสิน ก็สามารถกลับมาบริหารงานมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนั้นได้มีการรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่างๆ ถึงการทำงานที่ไร้ธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย เพื่อเสนอต่อ รมว.ศธ.เรียกร้องให้ยุบสภา มทร.ตะวันออก เพราะการปฏิบัติงานของสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลและไม่เป็นธรรม โดยจะเร่งดำเนินการทั้ง 2 เรื่องให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
อ้างอิงจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ