เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และ สสส. ได้ตั้งคณะทำงานติดตามคุณภาพอาหารกลางวันเด็กหลังได้รับงบประมาณเพิ่มจาก 13 บาท เป็น 20 บาทต่อหัว โดยพิจารณาจากคุณค่าทางโภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร ก็พบว่าดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยเท่านั้น เกินครึ่งคุณภาพของอาหารกลางวันยังแย่อยู่ ซึ่งเกิดจากศักยภาพของผู้ที่รับผิดชอบเรื่องอาหารกลางวันเด็กยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียน แม่ครัว ครู ไม่มีทักษะในการทำอาหาร ทั้ง ๆ ที่เงิน 20 บาทต่อหัวนั้นหากจัดการดี ๆ สามารถทำให้คุณภาพอาหารดีขึ้นได้ แต่ที่พบก็ยังไม่สามารถทำให้คุณภาพอาหารดีขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสที่มีชั้นมัธยมศึกษาด้วยนั้น พบว่ามีการแบ่งเงิน 20 บาทสำหรับอาหารกลางวันเด็กระดับชั้นประถมศึกษาไปให้พี่มัธยมด้วยจึงยิ่งทำให้คุณภาพอาหารด้อยลงไปอีก
"ในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการต้องมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ใช้เครื่องปรุงรสที่ผสมสารไอโอดีน ไม่ทำรสหวานจัด เค็มจัด มันจัด ควรจะมีผัก ผลไม้ ทุกวัน แต่ในความเป็นจริงกลับมีน้อยมาก ไข่ที่ควรจัดให้มีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง ก็พบว่าในบางโรงเรียนมีพอ บางโรงเรียนก็ไม่มี ส่วนธาตุเหล็กที่ได้จากตับ เลือดสัตว์ ที่เด็กควรได้รับสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็ไม่เพียงพอ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ก็พบว่าบางโรงเรียนให้มากเกินไป มีแต่เนื้อไม่มีผัก ส่วนบางโรงเรียนก็ดูเหมือนจะมีโปรตีนไม่พอ การตักอาหารให้เด็กแต่ละคนไม่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ ส่วนในแง่ของสุขาภิบาลอาหารก็ยังพบว่าการประกอบอาหารในโรงเรียนมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะอาด มีแมลงวันตอม ไม่มีภาชนะปกปิด ทั้งหมดนี้จึงทำให้ตีความได้ว่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนยังไม่ได้มาตรฐาน" นายสง่า กล่าว
นายสง่า กล่าวต่อว่า เรื่องคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมทั้งอาหารกลางวัน นมโรงเรียน และอาหารว่างด้วยเพราะทั้งหมดนี้จะมีผลกระทบกับตัวเด็กโดยตรง หากได้รับอาหารที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย และพัฒนาการทางด้านสติปัญญาก็จะต่ำลงด้วย เด็กจะผอม เตี้ย หรืออ้วน เมื่อกินอาหารไม่ถูกหลัก โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ ในที่สุดประเทศไทยก็มีทรัพยากรบุคคลที่ไม่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือทำอย่างจริงจัง โดยในระยะต้นคือการอบรมพัฒนาศักยภาพแม่ครัว ครูให้รู้จักบริหารจัดงานเงิน 20 บาทให้เป็น โดยส่งไปศึกษาดูงานในโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้แทนการรองบประมาณในการอบรมในภาพรวมอย่างเดียว ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องมีความรู้เรื่องโภชนาการด้วยเพราะอย่าลืมว่าเด็ก ๆ กินอาหารที่โรงเรียนเพียงมื้อเดียวเท่านั้น.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2559 (กรอบบ่าย)