"สุรเชษฐ์” ไล่บี้สอบทุจริต 611 เรื่อง เผยเตรียมสอบวินัยย้อนหลังอดีต ผอ.องค์การค้าฯ กรณีชุดนักเรียนค้างสต๊อกตั้งแต่ปี 2543 พร้อมชง สกอ.ฟันวินัยรองอธิการบดี ม.มหาสารคาม และ เจ้าหน้าที่ 3ราย ให้ออกจากราชการ ฐานใช้เอกสารปลอมเบิกเงิน 13 ล้าน
วันนี้ (14 มิ.ย.) ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตของ ศธ. ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตที่มีอยู่ 611 เรื่อง ของ 10 หน่วยงานในศธ.พบว่า มีการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 170 เรื่อง คิดเป็น 30% ส่วนเรื่องที่เหลืออยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้มีมติ ให้รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่ 3ราย ให้ออกจากราชการ กรณีทุจริตเบิกเงินล่วงหน้าโดยใช้เอกสารปลอม จำนวน 13 ล้านบาท แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยื่นอุทธรณ์คำสั่งมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ดร.ชัยยศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาทุจริตที่อยู่ในความสนใจของสังคม เช่น ธุจกิจจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ขณะนี้เสนอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา 11 ราย แต่ในบางพื้นที่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว และบางพื้นที่มีการสอบสวนเสร็จแล้วและได้สั่งลงโทษให้ไล่ออกและปลดออกจากราชการ คือ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดนนทบุรี แต่ได้มีการยื่นขออุทธรณ์มายัง ก.ค.ศ. แต่ ก.ค.ศ.มีมติไม่รับอุทธรณ์ยืนยันให้ลงโทษตามที่สอบสวนไว้ ทั้งนี้ ครูคนไหนที่มีปัญหาเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้แจ้งข้อมูลมาได้ ซึ่ง ศธ.พร้อมจะไปสอบสวนเพิ่มเติมให้ เพื่อคืนความเป็นธรรมแก่ครู
รองปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีชุดนักเรียนองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ค้างสต๊อกอยู่ในโกดัง ประมาณ 780,000 ชุด ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งผลสอบสวนเสร็จแล้ว โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ อดีต ผอ.องค์การค้าฯ และเจ้าหน้าที่ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543 ด้วย แม้บางคนจะอายุมากเจ็บป่วยก็ไม่ละเว้นต้องรับผิดชอบ เพราะมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องว่าสาเหตุใดถึงไม่ยอมนำชุดนักเรียนที่ค้างอยู่ในสต๊อกออกจำหน่าย
ดร.ชัยยศ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มีประเด็นที่ประชุมหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีก 2 เรื่อง ได้แก่
1.กรณีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดให้มีการมอบเข็มคุรุสภาสดุดีทองคำ ให้แก่คณะกรรมกาคุรุสภา ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) มีความเห็นว่า เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องและผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการฯดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว และ
2.กรณีการปรับปรุงห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ และห้องสมุดคุณภาพมาตรฐานสากล วงเงิน 340 ล้านบาท ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.100 แห่ง โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นงบฯลงทุน รวมค่าสิ่งปลูกสร้าง และครุภัณฑ์ร่วมอยู่ด้วย แต่คณะทำงานที่ลงไปตรวจสอบ พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า มีผู้ประสานงานมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ในพื้นที่นำเสนอรายการวัสดุอุปกรณ์ของโครงการโดยมี สพฐ.เป็นผู้จัดสรรงบฯ แต่ไม่ได้กำหนดสเปค หรือ รายละเอียดให้ โดยมอบให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งโรงเรียน 7 แห่งคืนเงิน เพราะไม่อยากทำและไม่มีความประสงค์จะดำเนินการตามโครงการฯดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นคณะทำงาน สรุปว่ามีความผิด ทำไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
ทั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ย้ำให้คณะกรรมการชุดต่างๆที่ตั้งขึ้น เพื่อตรวจสอบกรณีทุจริต ปฎิบัติงานแก้ปัญหาโดยเร็ว และหากพบคณะกรรมการชุดใดทำงานล่าช้าจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด.
ที่มา เดลินิวส์ อังคารที่ 14 มิถุนายน 2559 เวลา 14.09 น.