ถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 5 เดือนแล้วกับการที่ 10 ประเทศอาเซียนได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมเดียวกันตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้
แน่นอนว่าก่อนที่จะถึงเวลานี้ทุกภาคส่วนในประเทศไทย ต่างพยายามเตรียมพร้อมทั้งองค์กร คน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทุกระดับ ซึ่งตื่นตัวกับการเตรียมเด็ก เยาวชนไทย โดยปรับหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมไปถึงระดับสากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ
และหนึ่งในองค์กรที่มีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือ มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการทยอยปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิด-ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีมติให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก เลื่อนการเปิด-ปิดภาคเรียนจากเดิมที่เปิดภาคเรียนที่ 1 เดือน มิ.ย. - ต.ค. และภาคเรียนที่ 2 เดือน พ.ย.-มี.ค. มาเป็นภาคเรียนที่ 1 เดือน ก.ย.-ธ.ค. และภาคเรียนที่ 2 เดือน ม.ค.-พ.ค. ซึ่งในปีการศึกษา 2559 ก็เท่ากับดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว แต่ขณะเดียวกันตลอดระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือการมีเสียงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยกลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนในช่วงระยะเวลาเดิม เพราะประสบปัญหาหลายประการ อาทิ
ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ปอมท. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนการสอน และนักศึกษา จาก 27 มหาวิทยาลัย และได้เสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการและเสนอฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โดยข้อสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า คณาจารย์ เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน 26.8% ไม่เห็นด้วย 73.2% สายสนับสนุนการสอน เห็นด้วย 37.0% ไม่เห็นด้วย 63.0% นักศึกษา เห็นด้วย 39.1% ไม่เห็นด้วย 60.9%
สำหรับเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน โดยสรุปคือ สภาพภูมิอากาศประเทศไทยไม่เหมาะสมที่จะมีการเรียนการสอนในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งร้อนจัด ทำให้ผู้เรียนไม่มีสมาธิ และต้องใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับดินฟ้าอากาศ เช่น เกษตรศาสตร์ ก็ขาด แคลนน้ำใช้ในการเพาะปลูกในวิชาปฏิบัติ หรือสาขาวนศาสตร์ ต้องฝึกงานในช่วงฤดูฝนซึ่งไม่ปลอดภัย ทั้งบางช่วงเวลาก็มีวันหยุดยาวบ่อยครั้ง เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง ขณะที่รอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับระดับอุดมศึกษา พบว่า นักเรียนจบ ม.6 จนถึงช่วงมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียน ทิ้งระยะเวลานานกว่า 5-6 เดือน ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน เมื่อมองถึงการเข้าสู่โลกของการทำงาน จะพบว่า การรับสมัครเข้ารับราชการและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จะเปิดรับในช่วงเดือน เม.ย. เป็นปกติ ซึ่งการเปิด-ปิดแบบใหม่นี้ นักศึกษายังไม่จบการศึกษา จึงทำให้เสียโอกาสในการสมัครงาน
ขณะเดียวกัน เมื่อหันมาดูเหตุผลของนิสิตนักศึกษาซึ่งรวมตัวกันในนาม ที่ ประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ยื่นหนังสือถึง ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. เพื่อให้กลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิมเช่นเดียวกัน โดยระบุเหตุผลว่า การฝึกสอนของบางสาขาไม่สอดคล้องกับปฏิทินการศึกษาใหม่ ช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษาครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ต้องไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียน เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียน ระบบงบประมาณกิจกรรมนิสิตนักศึกษาไม่สอดคล้องกับปฏิทินการศึกษาใหม่ บัณฑิตสำเร็จการศึกษาไม่ทันการสอบเข้ารับราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงไม่สอดคล้องกับการตรวจเลือกทหารกองเกิน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย เปิด-ปิดภาคเรียนไม่เป็นเอกภาพ บางส่วนยังคงเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม ไม่ได้เลื่อนเปิด-ปิดภาค เรียนตามกลุ่มประเทศอาเซียนแต่อย่างใด
ที่สำคัญคือล่าสุด มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศชัดเจนที่จะกลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม ตั้งแต่ปี การศึกษา 2560 เป็นต้นไปอาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น
ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า “สมาชิก ทปอ.มีอิสระในการดำเนินการ แต่ในภาพรวมมหาวิทยาลัยควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทปอ. ให้มอบให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ทำวิจัยเก็บข้อมูลผลกระทบของการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน แล้ว อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ การตัดสินใจของ ทปอ.ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและงานวิจัย”
ด้าน รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย ประธานสภาคณาจารย์และพนักงานสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ปอมท. กล่าวว่า “ประธานสภาอาจารย์ที่เป็นสมาชิกใน ปอมท. จะยื่นผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยของตนเอง และ ปอมท.ก็ยื่นถึง รมว.ศึกษาธิการด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน รมว.ศึกษาธิการ จะรอผลการสำรวจจาก ทปอ.มาเปรียบเทียบกัน โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรามีแนวโน้มที่จะกลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม”
“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยที่ ทปอ.ไม่เพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านของสังคมที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ และทำการวิจัยเพื่อนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาสนับสนุนมติของตนเอง หากจะเดินหน้าต่อไปก็คงต้องเชิญชวนชาวมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้เปิด-ปิด ภาคเรียนพร้อมๆ กัน ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็คงต้องปรับตัวเพื่อให้เป็นเอกภาพ และคำนึงถึงอนาคตเพราะประเทศไทยคงอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังไม่ได้ในโลกปัจจุบัน
เพราะการเปิดปิดที่ลักลั่นกัน ผลเสียย่อมเกิดกับทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัยทั้งฝ่ายบริหารคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองและสังคมไทย
แต่สิ่งสำคัญที่สุดเหนืออื่นใดในการตอบโจทย์ข้อนี้คือต้องมองผลประโยชน์ของเยาวชนไทยเป็นตัวตั้งสูงสุด...
โดย ทีมการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 มิ.ย. 2559 เวลา 05:01 น.