คอลัมน์: การศึกษา: ได้เวลา 'บิ๊กหนุ่ย' ต้องเชือด... มหา'ลัย...ไร้ธรรมาภิบาล!!
ประวัติศาสตร์...ซ้ำรอย อีกจนได้ หลังที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี "พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติ "ไม่" อนุมัติ "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา" ให้กับนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ "มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.)" จำนวน 2,500 คน ด้วยเหตุผลซ้ำๆ ที่ได้ยินได้ฟังครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเกิดปัญหา...
มหาวิทยาลัยรับนักศึกษา "เกิน" จำนวนที่ขอรับจริง!!
สาเหตุของปัญหาในครั้งนี้ ไม่แตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง นั่นก็คือ มกธ. ขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2557 เพียง 500 คน แต่เอาเข้าจริง กลับเปิดรับนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมากถึง 2,500 คน หรือ 5 เท่าของจำนวนที่ขออนุญาต สกอ. ไว้
ความมาแตกเอาตอนที่ มกธ. ยื่นเรื่องขอให้คุรุสภาอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตรดังกล่าวในปีการศึกษา 2558 เนื่องจากคุรุสภาจะต้องประสานไปยัง สกอ. เพื่อตรวจสอบข้อมูลก่อนอนุมัติใบอนุญาตฯ ให้เลยทำให้รู้ว่า มกธ. รับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต สกอ. เอาไว้!!
พล.อ.ดาว์พงษ์ แจกแจงถึงสาเหตุที่คณะกรรมการคุรุสภาไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้นักศึกษา มกธ. ทั้ง 2,500 คน เพราะไม่อยากให้มหาวิทยาลัยใช้นักศึกษาเป็น "ตัวประกัน" เนื่องจากมหาวิทยาลัยทำไม่ถูกต้องจริงๆ เพราะถ้าจะรับนักศึกษาเพิ่ม จะต้องแจ้ง สกอ. เพื่อให้ตรวจสอบว่าเป็นไปตามเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่ สกอ. กำหนดหรือไม่
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เห็นว่ากรณีดังกล่าว ถือเป็นความรับผิดชอบของ "สภา มกธ." โดยตรง เพราะเป็นผู้อนุมัติหลักสูตร และที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ตั้งข้อสังเกตอีกประการคือ การที่ มกธ. รับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่ขอไว้มากถึง 2,000 คนนั้น มีการเปิดสอนภายนอกสถานที่ตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยหรือไม่ เพราะสังเกตว่ามีนักศึกษามาจากทั่วประเทศ โดยบางคนเดินทางมาไกลจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่!!
นอกจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะมองว่า มกธ. ใช้นักศึกษาเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองให้คุรุสภาต้องออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายเดียวกัน คือรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต จึงสั่งการให้ สกอ.และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไปรวบรวมว่ามีมหาวิทยาลัยกี่แห่งที่ทำในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อที่จะได้เร่งแก้ปัญหาทั้งระบบ
พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังย้ำด้วยว่า "ศธ. จะไม่ปล่อยเรื่องนี้ จะตรวจสอบ ส่วนคนที่เรียนก็ไม่ต้องกังวล ผมไม่ทิ้ง แต่สภา มกธ. ต้องอธิบายเหตุผลให้ และหากพบว่ามหาวิทยาลัยทำผิดจริง สกอ. จะมีมาตรการลงโทษ"
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา "น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์" ระบุว่า จากที่ สกอ. ได้ลงไปตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยที่ขอเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัย ว่าจัดการเรียนการสอนได้มาตรฐานตามที่ สกอ. กำหนดหรือไม่ พบว่าหลายแห่งที่จัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน และจะเสนอให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) สั่งงด หรือชะลอการรับนักศึกษาในหลักสูตรที่มีปัญหา
โดยหนึ่งในหลักสูตรที่มีปัญหา ก็คือหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มกธ. รวมอยู่ด้วย!!
ล่าสุด "นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์" รองปลัด ศธ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ได้เตรียมทำหนังสือแจ้งไปยังสภา มกธ. ให้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น เบื้องต้นรู้มาว่าสภา มกธ. เองรับรู้ว่ามหาวิทยาลัยรับนักศึกษาในหลักสูตรนี้เกินกว่าที่แจ้ง สกอ. ไว้ 500 คน แบ่งเป็น ผู้เรียน แผน ก ทำวิทยานิพนธ์ 10 คน และแผน ข สอบประมวลความรู้ 490 คน
ที่สำคัญ ปัญหาของ มกธ. ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่คุรุสภาเคยแจ้งให้สภา มกธ. ชี้แจงเรื่องนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 แล้ว
ขณะที่มหาวิทยาลัยก็ยืนยันว่ามีศักยภาพ ทั้งอาคาร สถานที่ และอาจารย์ประจำหลักสูตร เพราะมีอาจารย์มากกว่า 300 คน
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นหน้าที่ที่ สกอ. ต้องตรวจสอบ ส่วนคุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพ ทำได้เพียงแค่ไม่ออกใบอนุญาตฯ ให้เท่านั้น
นอกจาก มกธ. ที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้ง สกอ. แล้ว ขณะนี้ สกอ. ยังตรวจสอบพบว่ามีมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่ง ที่รับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่แจ้ง สกอ. มีทั้ง "มหาวิทยาลัยรัฐ" และ "มหาวิทยาลัยเอกชน" โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล ซึ่งบางแห่งตั้งอยู่ใกล้แค่ปลายจมูก ศธ. ด้วยซ้ำ
งานนี้ เลขาธิการคุรุสภายืนยัน นั่งยัน นอนยัน พล.อ.ดาว์พงษ์ ประกาศชัดเจนว่าจะ "ไม่มี" การ "เยียวยา" เด็ดขาด เพราะหากเยียวยาให้มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ทำผิดในลักษณะเดียวกัน ก็จะขอเยียวยาด้วยเช่นกัน... ซึ่งจะทำให้ ศธ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้!!
ส่วน "สาเหตุ" ที่ทำให้เกิดปัญหาการรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต และไม่ว่า สกอ. จะใช้ "ไม้อ่อน" หรือ "ไม้แข็ง" แต่ดูเหมือนมหาวิทยาลัยต่างๆ จะไม่เกรงกลัวเอาเสียเลย
ทำให้ "นักศึกษา" ต้องตกเป็น "เหยื่อ" ครั้งแล้วครั้งเล่า!!
เลขาธิการคุรุสภามองว่า "ประเทศเรามีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตบัณฑิต อาจเพราะมีช่องว่างของกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่ามหาวิทยาลัยเรียกร้องอยากมีอิสระ ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมด้วย โดยเฉพาะการรับคนเข้ามาเรียนในหลักสูตรบริหารการศึกษา ควรจะต้องมีกติกา
มากเป็นพิเศษ เช่น ผู้เรียนควรมีประสบการณ์ในการบริหารงานอย่างน้อย 10 ปีก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วย หรือผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ใช่เป็นครูผู้ช่วย ก็มาเรียนบริหารการศึกษาได้"
จากการที่แม่พิมพ์ทั้งหลาย มีความต้องการใบอนุญาตฯ จำนวนมาก เพื่อใช้ในการสอนหนังสือ ไปจนถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร ทำให้ปัจจุบันคุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูประเภทต่างๆ ไปแล้ว 1,060,000 ใบ แต่มีครูอยู่ในระบบเพียง 500,000 กว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ถือใบอนุญาตฯ มากเกินกว่าความต้องการจริง เพราะบางคนถือใบอนุญาตฯ ครบทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งสบโอกาส อาศัยความต้องการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดรับนักศึกษาจำนวนมากๆ เพราะเห็นช่องทางที่จะทำให้ได้เงินจำนวนมหาศาล...
เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
เพราะตัวอย่างก็มีมาให้เป็นเป็นระยะๆ และทุกครั้งก็มักจะจบลงตรงที่ สกอ. และ ศธ. ต้องคอยตาม "เยียวยา" บรรดานักศึกษาทั้งหลายที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ให้ได้ใบปริญญาบัตร ใบอนุญาตฯ หรือบรรดาใบต่างๆ
เพราะมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ยังคงอาศัย "ช่องโหว่" ที่ สกอ. และ ศธ. ไม่สามารถเข้ามาจัดการปัญหาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เพราะแต่ละแห่งมีกฎหมายของตนเอง ยังคงเดินหน้าหาประโยชน์ใส่ตัว
โดยไม่คำนึงถึงผลเสียมากมายที่ตามมา... ขณะที่ สกอ. เอง ก็รู้ตัวว่า "ไร้น้ำยา" ไม่สามารถจัดการกับสถาบันอุดมศึกษาที่ทำมาหากินกับคนเหล่านี้ หรือแม้จะขึ้น "แบล็กลิสต์" ไว้ แต่ดูเหมือนสถาบันอุดมศึกษาที่กระทำผิด จะไม่ได้รู้สึกสำนึกผิด หรือเกรงกลัวต่อสิ่งที่ทำ เพราะมองว่า สกอ. เป็นเพียง "เสือกระดาษ"...
งานนี้ ต้องจับตาว่า "บิ๊กหนุ่ย" จะกล้า "เชือดไก่ให้ลิงดู" และ "ใจแข็ง" พอที่จะ "ไม่เยียวยา" ให้นักศึกษาหรือไม่!!
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิ.ย. 2559