ชาวเน็ตออกแคมเปญร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ลำดับคะแนนและประกาศผลแอดมิชชั่นใหม่ ไม่เชื่อถือคำยืนยันของ สทศ.ว่ามีข้อสอบโอเน็ตผิดพลาดเพียงข้อเดียว ด้าน "ดาว์พงษ์" หนักใจไม่รู้จะตอบยังไง ชี้ สทศ.คือผู้ตอบคำถามดีที่สุด ส่วน "สัมพันธ์" ขอให้เชื่อมั่นในระบบ สทศ. คนออกข้อสอบคือผู้ทรงคุณวุฒิระดับมหาวิทยาลัย
จากกรณีที่ “อาจารย์ปิง ดาว้องก์” ติวเตอร์ชื่อดังวิชาภาษาไทยและสังคม ทักท้วงว่าน่าจะมีข้อสอบผิดพลาดอีก 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ 63 ข้อ 72 ข้อ 58 ข้อ 80 ข้อ 85 และมีคำถามและคำตอบกำกวมอีกหลายข้อ โดยข้อ 63 ซึ่งถามว่า ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศตะวันตก โดย สทศ.ระบุ 5 ตัวเลือกคือ 1.สนธิสัญญาครอว์ฟอร์ด 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ 3.สนธิสัญญาบรุค 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง 5.สนธิสัญญาปาวี และระบุว่าคำตอบที่ถูกคือ 4.สนธิสัญญาเบาว์ริงนั้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมายืนยันว่า สนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศตะวันตก คือสนธิสัญญาเบอร์นีย์ (สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมามีการจัดทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและราชอาณาจักรสยาม โดยสาระของสนธิสัญญาอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ตรงกับคำตอบของ สทศ.
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือ สทศ. เรื่องนี้ตนถือว่าจบแล้ว ตนเชื่อคำชี้แจงของ สทศ. เพราะ สทศ.ไม่ได้ทำคนเดียว มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินการ ปัญหานี้ถ้าจะโทษก็ขอให้มาโทษตน ตนเป็นคนสั่งให้ สทศ.เปิดข้อสอบและเฉลยคำตอบเอง เพราะต้องการให้ตัว สทศ.และอาจารย์เห็นว่า เมื่อมีการเปิดข้อสอบและสังคมเข้ามาช่วยตรวจสอบแล้วพบว่ามีการเฉลยผิด ดังนั้นในปีต่อไปก็จะต้องระมัดระวังการออกข้อสอบและเฉลยคำตอบปีต่อไปไม่ให้เกิดความผิดพลาด ต้องให้โอกาส สทศ.ปรับตัว หากปีหน้ายังมีความผิดพลาดอีกก็สมควรจะต้องถูกตำหนิอย่างแรง
ด้านนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า ตนมั่นใจในความถูกต้อง ขอยืนยันว่าการออกข้อสอบของ สทศ.มีระบบของผู้ออกข้อสอบ และขั้นตอนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย ขอให้เชื่อในระบบ และตอนนี้ สทศ.รายงานข้อมูลทั้งหมดให้ รมว.ศธ.รับทราบไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สพฐ.ยืนยันว่าตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ถูกต้อง และสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกคือ สนธิสัญญาเบอร์นีย์ แต่คำตอบขอ สทศ.คือ สนธิสัญญาเบาว์ริง สามารถอธิบายเหตุผลทางวิชาการได้หรือไม่ นายสัมพันธ์กล่าว ตนไม่อยากให้ประเด็นนี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง สพฐ.กับ สทศ. ตนมั่นใจในความถูกต้องและมั่นใจในระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในเว็บไซต์ change.org ได้ตั้งแคมเปญเชิญชวนในคนในโซเชียลเน็ตเวิร์กมาร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ สทศ.ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2559 ใหม่ เพื่อความยุติธรรม กรณีปมข้อสอบโอเน็ตเฉลยผิด โดยต้องการรายชื่อจำนวน 2,500 รายชื่อ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 1,938 รายชื่อ
โดยระบุข้อความว่า เนื่องจากการออกมาให้ความเห็นของนักวิชาการหลายฝ่ายถึงปัญหาข้อสอบโอเน็ตที่ทาง สทศ.นำออกมาเฉลย แต่กลับมีความผิดพลาดด้วยกันหลายข้อ ก่อให้เกิดปัญหาในจัดอันดับของนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบแอดมิชชั่น จึงเรียกร้องให้ สทศ.ตรวจสอบข้อผิดพลาดดังกล่าว ประกาศผลคะแนนใหม่และประกาศอันดับแอดมิชชั่นใหม่ โดยทั้งนี้ต้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่นักเรียนที่สอบเข้าในการประกาศรอบแรกในกรณีที่คะแนนลดลง โดยนักเรียนจะต้องได้เรียนไม่ต่ำกว่าอันดับที่ทาง สทศ.ได้ประกาศในรอบแรก โดยการเพิ่มที่นั่งให้แก่นักเรียนที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นแล้ว มีคะแนนผ่านเกณฑ์คัดเลือกในอันดับที่สูงกว่า ซึ่งจะไม่กระทบต่อความสามารถในการรับนิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยมากนัก โดยผลของคะแนนนั้นเพียง 1 ข้อก็มีผลต่อการจัดอันดับในการคัดเลือกแล้ว แต่ในปัญหาข้อสอบที่ตรวจสอบจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิมากถึง 11 ข้อด้วยกัน เป็นคะแนนรวมสูงสุดถึง 198 คะแนน ไม่นับรวมข้อที่มีความกำกวมอีกจำนวนหนึ่ง เป็นที่แน่นอนว่าจะมีนักเรียนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน การเรียกร้องครั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักเรียนที่รับเข้าการคัดเลือกเป็นประโยชน์สูงสุด และเพื่อความโปร่งใสในการทำงานของ สทศ. ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้ารับการคัดเลือกระบบแอดมิชชั่นมิได้เป็นผู้ก่อความเสียหายหรือวุ่นวายขึ้นแต่ประการใด แต่กลับต้องรับผลเคราะห์กรรมจากความบกพร่องของ สทศ. ดังนั้น เพื่อคำนึงถึงอนาคตของนักเรียนอีกทั้งความยุติธรรมให้เกิดแก่สังคมไทย จึงขอให้ช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอแนวทางดังกล่าวให้ สทศ.รับทราบและนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนที่เข้ารับการคัดเลือกผ่านระบบแอดมิชชั่น เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ จะปล่อยไปเสียมิได้ เนื่องจากอนาคตของนักเรียนที่เข้ารับการคัดเลือกนั้นมีผลต่ออนาคตของนักเรียนโดยตรง.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 10 มิถุนายน 2559