คลอดระเบียบ สอศ.บริหารอาชีวศึกษาจังหวัดและอาชีวศึกษาภาค หลังรวมอาชีวะรัฐและเอกชน กำหนดสเปกกรรมการมาจาก 3 ส่วน คือ ผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน
วันนี้ (7 มิ.ย.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ลงนามในระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารอาชีวศึกษาจังหวัดและอาชีวศึกษาภาค พ.ศ.2559 เพื่อบริหารการอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนภายหลังมาอยู่รวมในสังกัด สอศ. โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ทำหน้าที่ดูแลการอาชีวศึกษาในจังหวัด เช่น กำหนดความต้องการกำลังคนในจังหวัด สาขาอาชีพ และวางแผนผลิตกำลังคน เป็นต้น ทั้งนี้ อศจ.แต่ละจังหวัด ประกอบด้วย กรรมการ 15 คนมาจาก 3 ส่วน คือ หน่วยงานผู้ผลิตกำลังคน ผู้ใช้กำลังคน และผู้ทรงคุณวุฒิ วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยประธาน อศจ.จะคัดเลือกจากผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาครัฐในจังหวัด รองประธานคนที่ 1 มาจากวิทยาลัยอาชีวะเอกชน ทั้งนี้ ให้อศจ.จัดตั้งคณะอนุกรรมการการอาชีวศึกษา (ออศจ.) ชุดละไม่เกิน 5 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ ได้
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กำหนดให้อาชีวศึกษาจังหวัดในแต่ละภาครวมกันเป็น อาชีวศึกษาภาค (อศภ.) แบ่งเป็น 5 ภาค ดังนี้ อศภ.ตะวันออกและกรุงเทพมหานคร อศภ.กลาง อศภ.เหนือ อศภ.ตะวันออกเฉียงเหนือ และอศภ.ใต้ เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านวิจัยและพัฒนาแผนกำลังคน อาชีวศึกษาในระดับภาคให้เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับสถานประกอบการ เป็นต้น โดยประธาน อศภ.จะคัดเลือกมาจาก ประธาน อศจ.ในภาคนั้น ๆ และมีกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้แทนสภาหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานแรงงาน ผู้แทนสำนักงานอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผู้แทนศึกษาธิการภาค มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 เวลา 16.01 น.