ยังคงมีข่าวดีมาฝากเพื่อนครูเหมือนเช่นเคย...
รอบนี้เป็นข่าวดีของ พนักงานราชการ และ ครูอัตราจ้าง คนเก่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่คอยเป็นลมใต้ปีกให้น้องๆ อาชีวะคว้าแชมป์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากเวทีการประกวดในประเทศและนานาประเทศมาแล้วมากมาย
โดยล่าสุด นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ยกร่าง หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษสังกัด สอศ. เนื่องจากได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของสถานศึกษาในสังกัด สอศ.จำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขันประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ จนได้รับรางวัลมากมายทั้งในประเทศและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง พบว่าครูผู้สอนที่ทำหน้าที่ควบคุมนักศึกษา คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่สำคัญและส่วนใหญ่มีสถานะเป็นพนักงานราชการและครูอัตราจ้างเท่านั้น จึงเห็นควรว่าน่าจะมีช่องทางสนับสนุนให้อาจารย์กลุ่มนี้มีโอกาสเป็นข้าราชการครูสังกัด สอศ.ได้ โดย สอศ.จะเสนอร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
หาก ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ในการประชุมคราวเดียวกันนี้ สอศ.จะเสนอให้ ก.ค.ศ.อนุมัติให้พนักงานราชการและครูอัตราจ้าง จำนวน 6 รายที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ฯ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ เป็นกลุ่มแรก ดังนี้ 1.นายเกษมสุข ชัยชิตาทร พนักงานราชการ สาขาวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.) พระนครศรีอยุธยา 2.นายสุรพงษ์ สามแก้ว ครูอัตราจ้าง สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) อุบลราชธานี 3.นายรัฏฐเอก ณัฐธยาน์ภัทรกุล พนักงานราชการ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วท.สุราษฎร์ธานี 4.นายสุริยา สามแก้ว พนักงานราชการ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วท.เดชอุดม 5.นายวีระยุทธ อินต๊ะยศ พนักงานราชการ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ป่าซาง และ 6.นายไพลรัตน์ สำลี พนักงานราชการ สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง วก.ศรีสัชนาลัย
นายชัยพฤกษ์ ให้เหตุผลที่ต้องเสนอ ขอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาและอนุมัติพนักงานและครูอัตราจ้างทั้ง 6 รายพร้อมกับการเสนอร่างหลักเกณฑ์ฯ ก็เนื่องจากทั้ง 6 ราย ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบผลงานและประวัติ ตามร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันอยากให้คนทำงานที่มีความตั้งใจและสร้างผลงานต่อเนื่อง ได้มีขวัญกำลังใจ มีความก้าวหน้าและมั่นคง รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่ครูที่ไม่ใช่ข้าราชการคนอื่นๆ ด้วย
ส่วนการบรรจุนั้น อาชีวะแจ้งว่า เบื้องต้นจะเน้นในพื้นที่ขาดแคลนครู แต่หากวิทยาลัยต้นสังกัดของครูทั้ง 6 คนยังขาดแคลนอยู่ ก็สามารถบรรจุที่เดิมได้ นับเป็นข่าวดีของครูที่ทำงานปิดทองหลังพระมาโดยตลอด...
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 2559 (กรอบบ่าย)