ดูรายละเอียดก่อนใช้อำนาจพิเศษ - “กำจร” ชี้ใช้คู่ พ.ร.บ.อุดมฯ เอกชน
ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ปัญหาอุดมศึกษานั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ว่า ขณะนี้ยังดูรายละเอียดต่างๆอยู่ ซึ่งอาจจะใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 หรืออาจจะออกเป็นมาตรการเพื่อกำกับดูแลก็เป็นได้ ซึ่งจะมุ่งให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมกำกับดูแลให้ดำเนินการบริหารต่างๆ เป็นไปอย่างที่ถูกที่ควร เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยใดที่ทำดีอยู่แล้วคงไม่ต้องปรับตัวอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นมหาวิทยาลัยที่อาจจะมีปัญหาในการบริหารจัดการ
วันเดียวกันที่ มทร.รัตนโกสินทร์ พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานวันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่ 7 พ.ศ.2559 ว่า มหาวิทยาลัยต้องมีความชัดเจนในเรื่องจำนวนรับนักศึกษา จะรับมากจนล้นและเกิดปัญหาคุณภาพตามมาไม่ได้ สำหรับมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่ขอไว้แล้วจะมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น ตนตอบได้เลยว่า ผิดกติกา ซึ่งไม่สามารถให้ได้ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยใดก็ตาม และอยากให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสียที
ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาวงการอุดมศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทั้งการเปิดหลักสูตรรับนักศึกษาจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพจนทำให้บัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกล้นตลาด ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถจัดการด้วยระบบที่มีอยู่ แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สั่งให้ทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่เคยได้รับความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้แข็งอย่างอำนาจพิเศษมาตรา 44 เข้าไปจัดการ โดยจะคำนึงถึงการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลเป็นหลัก ซึ่งจะครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน อาทิ กรณีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ที่คุรุสภาไม่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้แก่นักศึกษา จำนวน 2,500คน เพราะรับนักศึกษาจำนวนมากเกินกว่าที่ขอไว้ โดยอาจใช้มาตรา 44 พิจารณาควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ที่ให้ยกเลิกใบอนุญาตจัดตั้งได้ และยังมีเรื่องการสรรหาอธิการบดี นายก และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีการดำรงตำแหน่งซ้ำหลายแห่ง.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 7 มิ.ย. 2559 เวลา 05:01น.