“กำจร” แจง ”ดาว์พงษ์” สั่งแก้ไขรายละเอียดประกาศเรียนฟรี โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นการอุดหนุนให้เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยไม่กำหนดชั้นปี เล็งใส่ไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ออกประกาศ ศธ. เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอชี้แจงว่า รมว.ศธ.ยังไม่ได้ลงนาม และได้มอบหมายให้แก้ไขในรายละเอียดร่างประกาศ ศธ.กำหนดว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา เริ่มตั้งแต่อายุ 4 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา คือการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-5 ปี ระดับประถมศึกษา เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ มัธยมศึกษาตอนต้น ชั้น ม.1-ม.3 และ ม.ปลาย แบ่งเป็นประเภทสามัญ ชั้น ม.4-ม.6 และประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ทำให้เกิดความสับสนคือจำนวนปีการศึกษา เนื่องจากการนับอายุเข้าเรียนในระดับอนุบาล ซึ่งสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเริ่มตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ คืออนุบาล 1-2 ส่วนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะเริ่มตั้งแต่อายุ 3-5 ขวบ คืออนุบาล 1-3 ทั้งนี้ ความจริงแล้วการดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาโรงเรียน สพฐ.จะได้รับการอุดหนุน 14 ปี ส่วน สช.อุดหนุน 15 ปี แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและดำเนินการอุดหนุนการศึกษาได้ครอบคลุม รมว.ศธ.ขอให้มาปรับแก้ไขใหม่ โดยไม่ต้องกำหนดอายุของระดับอนุบาลเหลือเพียงว่าตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม ปวช.ด้วย
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ให้มาดูด้วยว่าหากออกแค่เพียงประกาศ ศธ.จะเพียงพอหรือไม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ ศธ.ไปทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนในเรื่องการเรียนฟรี 15 ปี และให้จัดทำกฎหมายให้ชัดเจนนั้น โดยระยะเร่งด่วน หากต้องการให้เกิดกฎหมายโดยเร็วก็ต้องใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่ง ศธ.ก็จะเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนการจัดการศึกษาครอบคลุม 15 ปี เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นใจว่ารัฐจะไม่ทอดทิ้งไม่ว่าเด็กจะเรียนอยู่ระดับใดก็ตาม ทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน และแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลก็แก้ไขไม่ได้ หรืออย่างช้าก็แก้ไขตามกระบวนการปกติ ซึ่งเวลานี้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ต้องไปดูว่ามีการกำหนดการเรื่องนี้ไว้อย่างไร หากไม่มีก็จะทำข้อเสนอแนะไปมอบให้
“เวลานี้ประชาชนไม่มั่นใจ เกิดความสับสน เพราะมีการนำเรื่องอื่น อย่างกระแสการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) พ.ศ.... ที่หยิบเอามาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่ง ศธ.ได้บอกไปแล้วว่าที่เขียนไว้ 12 ปีเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อจุดนี้ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในสังคม และรัฐบาลเห็นว่าการจัดทำเป็นกฎหมายชัดเจนจะทำให้สังคมมั่นใจมากกว่าก็คงต้องออกเป็นกฎหมาย” ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 7 มิถุนายน 2559