สั่ง มรภ.ปรับหลักสูตรผลิตครู ขีดเส้นใช้จริงปี 60-ราชภัฏรับลูกตั้งทีมลุย
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมมอบนโยบายการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ตนได้ฝากประเด็นให้ มรภ.ช่วยวางแผนดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันโดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับอนุบาล การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต้องทำให้สังคมเห็นด้วยว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครู 1-3 คน จำเป็นต้องมีการควบรวมจะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นโดยตรงต่อตัวนักเรียน
รวมถึงฝากแก้ไขปัญหาการศึกษาในสภาวะวิกฤติผู้คนในองค์กรนั้นๆ ต้องเข้าใจปัญหาเช่นเดียวกันก่อน ส่วนตัวเมื่อเข้ามาทำงานก็เช่นกัน พยายามแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่พบ ซึ่งจะให้ผู้คนในองค์กรยอมรับร่วมกันก่อน และจะไม่ทำอะไรซุกไว้ใต้พรม ทั้งนี้ อาจมีมาตรา 44 เกี่ยวกับการศึกษาตามออกมาอีก เพื่อสำทับแนวปฏิบัติต่างๆให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมา ศธ.ไม่เคยล้ำเส้นการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษา 80 แห่ง เพียงแต่ขอให้คิดและหารือร่วมกันในการผลิตและพัฒนาครู โดยเปรียบเทียบกับหลักสูตรผลิตครูของหลายๆ ประเทศ เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานและเกิดการยอมรับร่วมกันก่อนที่จะประกาศใช้ ดังนั้นจึงมอบให้ มรภ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ สามารถใช้ได้ภายใน ส.ค.2560 ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาหน้า โดยได้ฝากว่าขอให้มีการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการสอนที่ดีของ มรภ.แต่ละแห่งเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้
ด้าน รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มรภ.วไลยอลงกรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ได้รับนโยบายการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูในปัจจุบันให้สอดคล้องกับโลกอนาคต เช่น ครูต้องมีทักษะภาษาอังกฤษพื้นฐาน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ สำหรับปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็กนั้นต้องมีการหารือกัน ตนมองว่า ศธ. มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก และการผลิตครูในปัจจุบันอาจยังไม่ตอบโจทย์ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กน้อย และต้องการครูที่สามารถบูรณาการการสอนระหว่างวิชาและระหว่างชั้นได้.
ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 1 มิ.ย. 2559 เวลา 05:01 น.