[ เดลินิวส์ ] รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายมหาวิทยาลัยราชภัฎ ปรับหลักสูตรการผลิตครูใหม่ ขีดเส้นทำให้สำเร็จประกาศใช้ได้ภายในเดือนสิงหาคม ปี 60 ด้าน ทปอ.มรภ.ขานรับนโยบายตั้งคณะกรรมการศึกษาหลักสูตร
วันนี้ ( 31พ.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมมอบนโยบายการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ให้ มรภ.วางแผนขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในระดับอนุบาล และการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะต้องทำให้สังคมเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครู1-3คน หากจำเป็นต้องมีการควบรวมจะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นโดยตรงต่อตัวนักเรียนเองได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เมื่อตนเข้ามาทำงานก็พยายามแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่พบ โดยให้คนในองค์กรยอมรับร่วมกันก่อน และจะไม่ทำอะไรซุกไว้ใต้พรม ส่วนปัญหาการบริหารงานภายในสถาบัน คือ เรื่องของธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะขณะนี้ทุกมหาวิทยาลัยมีพ.ร.บ.หรือกฎหมายของตัวเองกันหมดแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ก็กำลังร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อกำกับดูแลมหาวิทยาลัย แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ร่างพ.ร.บ.จึงยังไม่ตกผลึก เพราะฉะนั้นหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็อาจต้องหาอำนาจพิเศษเข้าไปดูแล ซึ่งก็คือ การใช้อำนาจตามมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่เกี่ยวกับการศึกษาตามออกมาอีก เพื่อสำทับแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าไปวุ่นวายทั้งหมด ยังคงให้อิสระแก่สถาบันฯในการดำเนินงานได้อยู่
“ ศธ.ไม่เคยล้ำเส้นการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษา80 แห่ง เพียงแต่ขอให้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งอาจจะมีการเปรียบเทียบกับหลักสูตรผลิตครูของหลายๆประเทศ เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานและเกิดการยอมรับร่วมกันก่อนที่จะประกาศใช้ โดยผมได้มอบให้ มรภ. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ ให้สามารถใช้ได้ภายในสิงหาคม2560ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2559 และให้มีการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการสอนที่ดีของ มรภ.แต่ละแห่งเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้ " รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ทปอ.มรภ.จะตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูในปัจจุบันให้สอดคล้องกับโลกอนาคต เช่น ครูต้องมีทักษะภาษาอังกฤษพื้นฐาน ไม่ใช่เฉพาะครูภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เป็นต้น สำหรับปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ตนมองว่าศธ. มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก และการผลิตครูในปัจจุบันที่ผลิตตามสาขา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กน้อย และต้องการครูที่สามารถบูรณาการการสอนระหว่างวิชาและระหว่างชั้นเรียนได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในเรื่องนี้ ส่วนของการจัดการศึกษาระดับอนุบาลนั้นทุก มรภ. มีการผลิตครูสาขาปฐมวัยอยู่แล้ว และหลักสูตรก็มีความเข้มข้นมากด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้นักศึกษามีจำนวนลดลง ดังนั้นมรภ.จึงได้ปรับกลยุทธ์ จากที่ผลิตนักศึกษาเพื่อจะมาเป็นครู ก็ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาครูประจำการด้วย เนื่องจาก มรภ. เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงโรงเรียนในพื้นที่.
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559 เวลา 15:00 น.