พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
การประชุมหารือครั้งนี้ มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอ อาทิ
รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ในฐานะประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวว่า การเข้าพบรัฐมนตรีในครั้งนี้เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังแนวทางนโยบายของนายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับ มรภ.ทั้ง 38 แห่งที่ให้ความสำคัญกับการผลิตครู ควบคู่ไปกับการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน เช่น ผลสอบ O-NET รวมทั้งคุณภาพบัณฑิตครูที่มีผลต่อการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาสอบไม่ผ่านเกณฑ์บรรจุแต่งตั้งจำนวนมาก ทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตครูที่เน้นให้มี "จิตวิญญาณ" ความเป็นครู และพัฒนาเทคนิคการสอนให้เป็นครูมืออาชีพ ตลอดจนจัดการศึกษาในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ด้านการพัฒนาครู ปัจจุบัน มรภ. ทุกแห่งทั่วประเทศมีศูนย์พัฒนาครู และศูนย์สะเต็มศึกษา เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้ครูในพื้นที่มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ มากขึ้น
รศ.สมชาย วงศ์เกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ในการทบทวนหลักสูตรการผลิตครู เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่ มรภ.พร้อมจะเดินหน้าให้ทุกสถาบันที่ผลิตครูได้มีเกณฑ์มาตรฐานการผลิตที่สูงและเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคนั้น เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับและปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู พร้อมทั้งได้เสนอแนะการผลิตครูของคณะครุศาสตร์ มรภ. ด้วยว่า ควรร่วมมือกันเป็นเครือข่ายภูมิภาค ซึ่ง มรภ.แห่งใดถนัดสาขาวิชาเอกอะไร ให้เน้นการผลิตในสาขานั้นๆ ส่วนการผลิตคุณภาพผู้เรียนภาษาอังกฤษจะนำมาตรฐานการวัดระดับตามมาตรฐานสากลมาใช้ ในขณะที่ มรภ.พร้อมจะเน้นทั้งด้านการผลิตและพัฒนาบัณฑิตตามหลักสูตรด้านวิชาการและวิชาชีพ
ผศ.สนิท เหลืองบุตรนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น กศจ.เลย พบปัญหาในการคัดเลือกและการคัดสรรครูผู้ช่วยโดยวิธีพิเศษ แต่เข้าใจในช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนี้ที่ต้องดึงบัญชีที่ค้างไว้มาดำเนินการให้เสร็จสิ้นเพื่อไม่ให้ผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไว้เสียสิทธิ์ แต่หลังจากนี้ต้องการให้ปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับ ก.พ. คือขึ้นบัญชีไว้ที่ส่วนกลางเป็นเวลา 2 ปี หากเขตพื้นที่การศึกษาใดต้องการใช้อัตราสาขาใดก็สามารถดึงเอามาใช้ได้เลย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ รมว.ศึกษาธิการด้วย ทั้งนี้การมีระบบเลือกสรรครูที่ดีมีประสิทธิภาพ เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ได้ครูที่เก่งและดีเข้ามาในระบบมากขึ้น
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำและให้ความสำคัญมากต่อการผลิตครูให้มีคุณภาพสากลและทุกสถาบันการผลิตครูเกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษมาช่วยวางแผนพัฒนาและยกระดับหลักสูตรการผลิตครูที่จะดูไปถึงกระบวนการวัดและประเมินผล และเป้าหมายสุดท้ายคือนักเรียน ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่สถาบันการศึกษากำหนดไว้หรือไม่ โดยคาดว่าหลังจากปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งหมดแล้ว จะลงไปสุ่มดูหลักสูตร ก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรการผลิตครูใหม่ในปีการศึกษาหน้า เพื่อให้นักเรียนที่เข้ามาเรียนครูปีละกว่า 50,000 คน ได้ทันใช้หลักสูตรใหม่
ย้ำด้วยว่า แม้จบออกไปแล้วไม่ได้เป็นครู แต่ด้วยหลักสูตรที่ดีก็จะส่งผลถึงการเป็นคนดีด้วย
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่เคยก้าวล่วงหรือล้ำเส้นในการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษา 80 แห่ง เพียงแต่ขอให้หน่วยงานต่างๆ ได้คิดและหารือร่วมกัน อาจจะมีการเปรียบเทียบกับหลักสูตรผลิตครูของหลายๆ ประเทศ เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานและเกิดการยอมรับร่วมกันก่อนที่จะประกาศใช้
จากการหารือร่วมกันครั้งนี้ เห็นพ้องร่วมกันที่จะปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู โดยให้ มรภ. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลา (Time Frame) ในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ สามารถใช้ได้ภายในสิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาหน้า โดยได้ฝากประเด็นการปรับหลักสูตรด้วยว่า ขอให้มีการแชร์เทคนิคการสอนที่ดีของ มรภ.แต่ละแห่งเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้
นอกจากนี้ ได้ฝากประเด็นทางการศึกษาที่ มรภ.ต้องช่วยกันคิดและวางแผนดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกัน คือ การจัดการศึกษาในระดับอนุบาล, การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต้องให้สังคมเห็นด้วยว่าหากโรงเรียนขนาดเล็กมากๆ อาทิ โรงเรียนที่มีครู 1-3 คน หากจำเป็นต้องมีการควบรวม ก็จะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นโดยตรงต่อตัวนักเรียนเอง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวฝากด้วยว่า ในการแก้ไขปัญหาการศึกษาในสภาวะวิกฤต ผู้คนในองค์กรนั้นๆ ต้องเข้าใจปัญหาเช่นเดียวกันก่อน ส่วนตัวเมื่อเข้ามาทำงานก็เช่นกัน พยายามแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่พบ ซึ่งจะให้ผู้คนในองค์กรยอมรับร่วมกันก่อน และจะไม่ทำอะไรซุกไว้ใต้พรม ซึ่งอาจจะมีมาตรา 44 เกี่ยวกับการศึกษาตามออกมาอีก เพื่อสำทับแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
30/5/2559
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559