นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์แชร์คลิปนักเรียนชายระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรุมทำร้ายเด็กพิเศษเรียนร่วม แม้จะเป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชนการกุศล ไม่ใช่การก่อเหตุของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมั่นใจกับแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลเด็กพิเศษเรียนร่วมในโรงเรียนของสพฐ. โดยครูประจำชั้นจะทำความเข้าใจกับนักเรียนปกติให้ทราบว่าเพื่อนในห้องเรียนคนไหนเป็นเด็กพิเศษ เพื่อให้สามารถเรียนร่วมกันได้อย่างมีความสุข
"ผมเชื่อว่าหากโรงเรียนทุกโรงที่มีเด็กพิเศษเรียนร่วมอยู่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง จะทำให้การเฝ้าระวังดูแลเด็กพิเศษเรียนร่วมมีประสิทธิภาพ ขณะที่ครูเป็นส่วนสำคัญต้องอธิบายให้เด็กปกติได้เข้าใจ เพื่อให้การเรียนร่วมของเด็กทุกคนมีความสุข" นายการุณกล่าว
ส่วนกรณีโรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่งแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าจะไม่รับเด็กพิเศษเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยอ้างว่าเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะนโยบายของศธ. และสพฐ. คือการสร้างความเป็นธรรมเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขอให้ผู้ปกครองสบายใจว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง แม้กระทั่งเด็กที่ป่วยเป็นออทิสติก สพฐ.ก็มีนโยบายให้เรียนร่วมกับเด็กปกติ หรือมีโรงเรียนเฉพาะทางให้เลือกเรียน
ข้อมูลสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.รายงาน ระบุว่าในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนสพฐ. ที่มีนักเรียนพิเศษเรียนร่วมทั่วประเทศ จำนวน 23,877 โรง โดยจำแนกความพิการเป็น 10 ประเภท ได้แก่ 1.บกพร่องทางการเห็น คือ บอดและเลือนราง 2.บกพร่องทางการได้ยิน คือ หูหนวกและหูตึง 3.บกพร่องทางสติปัญญา 4.บกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ 5.บกพร่องทางการเรียนรู้ 6.บกพร่องทางการพูดและภาษา 7.บกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ 8.ออทิสติก 9.ความพิการซ้ำซ้อน และ 10.อื่นๆ
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2559 (กรอบบ่าย)