เพิ่มดีกรีคุณภาพเรียนฟรี15ปี/รับทิศทางรธน.ใหม่ให้ปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับ
ศธ.ศึกษารายละเอียดงบประมาณเด็กก่อนวัยเรียน หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ บังคับชั้นอนุบาลเป็นการศึกษาภาคบังคับ พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนต้องส่งลูกหลานเข้าเรียน ด้านเลขาฯ สกศ.เผยต้องมีการกำหนดเกณฑ์การเรียนฟรีเด็กเล็กที่ชัดเจน ชี้งบที่ใช้อุดหนุนทุกวันนี้ปีละ 1,700 บาทน้อยเกินไป
ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ... (ฉบับลงประชามติ) หมวด 5 มาตรา 54 กำหนดว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐบาลจะต้องเข้าไปสนับสนุนให้เด็กก่อนวัยเรียนทุกคนเข้ารับการดูแลในสถานศึกษาหรือเลี้ยงดูอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้คาดการณ์ว่าจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นโดยเฉพาะ
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบปี 2560 ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 313,684.40 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนประมาณ 5,637 ล้านบาท ถือว่ายังครอบคลุมนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงจำนวนผู้เรียนระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลด้วย ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการกำหนดให้การเรียนระดับชั้นอนุบาลเป็นการศึกษาภาคบังคับ พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนต้องส่งลูกหลานเรียนในระดับอนุบาล แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ไม่ได้บังคับให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งลูกหลานเรียนระดับอนุบาล และให้เข้าเรียนได้ตามความพร้อมของแต่ละครอบครัวเท่านั้น
"งบระดับปฐมวัยจะเป็นเท่าไหร่ เรามีการสำรวจงบแต่ละระดับชั้นไว้แล้ว และภายในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ จะมีการรายงานตัวเลขดังกล่าวเพื่อนำข้อมูลนี้ไปวางแผนว่าจะสนับสนุนรายหัวแต่ละระดับชั้นเรียน ผมเชื่อว่าจะสามารถจัดสรรงบให้เพียงพอสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแน่นอน" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า หากร่าง รธน.ฉบับนี้ผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้รัฐต้องทำหน้าที่รับผิดชอบรวบรวมเด็กที่อายุถึงเกณฑ์เข้าศึกษาในระดับปฐมวัยให้ได้รับการศึกษา ทั้งนี้ ในส่วนของ สกศ.เองก็มีงานวิจัยที่รองรับเรื่องการศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยจำนวนมาก ซึ่งถือว่าวางระบบไว้ดีกว่าช่วงชั้นอื่นๆ ทั้งยังมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการศึกษาปฐมวัย ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการประชุมเดือนละครั้ง ดูแลเรื่องการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยโดยเฉพาะ และคณะกรรมการชุดนี้ได้มีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชน (ยูนิเซฟ) กำหนดมาตรฐานโรงเรียนอนุบาล ศูนย์ดูแลเด็ก ว่าจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง มาตรฐานของเด็ก ว่าต้องมีสมรรถนะด้านไหน อย่างไรบ้าง อีกทั้งยังมีแบบวัดและประเมินผลการทำงานด้วย
เลขาฯ สกศ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง รธน.ผ่านประชามติ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการศึกษาปฐมวัยจะต้องมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการดูแลการศึกษาในระดับปฐมวัย ซึ่งเรื่องที่จะต้องมีการปรับแน่นอนคือ งบประมาณสนับสนุนที่จะต้องเพิ่มขึ้น และทำให้ชัดเจนในส่วนของรายละเอียด ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร ต้องสนับสนุนเรื่องใดบ้าง เช่น ครู ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็มีการจัดงบประมาณสนับสนุนการศึกษาในระดับปฐมวัยอยู่แล้วตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ แต่ถือว่าจัดให้น้อย เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับ ดังนั้นการเข้าเรียนปฐมวัยจึงเป็นเพียงการเชิญชวนส่งเสริมให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียน คือหากมีเด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าศึกษาในระดับปฐมวัย จำนวน 100 คน แต่มีเด็กเข้าเรียนเพียง 30 คน รัฐก็จัดให้ตามจำนวน ซึ่งหาก รธน.ผ่าน เมื่อมีเด็กผ่านเกณฑ์ 100 คน ก็ต้องมาเข้ารับการศึกษาทั้ง 100 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานในการกำหนดงบประมาณสนับสนุนเรียนฟรี 15 ปีของ ศธ. ปีงบประมาณ 2559 ระดับประถมศึกษา 1,900 บาทต่อคนต่อปี ระดับมัธยมตอนต้น 3,500 บาทต่อคนต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภทสามัญศึกษา 3,800 บาทต่อคนต่อปี ประเภทอาชีวศึกษา สาขาช่างอุตสาหกรรม 6,500 บาทต่อคนต่อปี สาขาพาณิชยกรรม 4,900 บาทต่อคนต่อปี สาขาคหกรรม 5,500 บาทต่อคนต่อปี ศิลปกรรม 6,200 บาทต่อคนต่อปี สาขาเกษตรกรรมทั่วไป 5,900 บาทต่อคนต่อปี สาขาเกษตรกรรมปฏิรูป 11,900 บาทต่อคนต่อปี ส่วนระดับก่อนประถมศึกษาหรือก่อนวัยเรียน 1,700 บาทต่อคนต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แต่ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ แต่ ศธ.ก็ประกาศกฎกระทรวงให้มีการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งหมายความว่ารัฐจะต้องจัดงบอุดหนุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของ ศธ. คาดว่าจะได้รับการอนุมัติเป็นวงเงิน 519,292.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2559 จำนวน 2,215.78 ล้านบาท โดย สพฐ.ได้รับการอนุมัติงบจำนวน 313,684.04 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 5,637 ล้านบาท.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559