เรียบร้อยโรงเรียน คสช. ไปอีก 1 ราย สำหรับ "นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 23/2559 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการ สมศ. ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของผู้อำนวยการ สมศ.
ซึ่งเหตุผลในการระงับการปฏิบัติหน้าที่ก็มีเพียงสั้นๆ ว่า เพื่อให้การพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก และการประเมินผลการจัดการศึกษา อันเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาในแต่ละระดับ เป็นไปตามความมุ่งหมาย และหลักการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยให้ "นายคมศร วงษ์รักษา" รองผู้อำนวยการ สมศ. รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. แทน
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของผู้คนในแวดวงการศึกษาเท่าใดนัก เพียงแต่ไม่รู้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะออกมาในช่วงจังหวะไหน และเวลาใดเท่านั้น
เพราะหากมองย้อนกลับไปถึงการทำงานของนายชาญณรงค์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความ "ขัดแย้ง" กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่าง "ลึกซึ้ง" เกี่ยวกับการจัดทำ "ตัวบ่งชี้" ในการประเมินภายนอก ซึ่งไม่เฉพาะกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เท่านั้น แต่รวมถึง ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)
โดย ทปอ. ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายอุดมศึกษาทั้ง 4 เครือข่าย ได้ทำหนังสือถึง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช. ให้ระงับใช้หมวด 6 เรื่องมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545) ฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 สำหรับระดับอุดมศึกษาเป็นการชั่วคราว เพราะตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ส่วนใหญ่ไม่สะท้อนผลผลิตที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละสถาบัน
ส่งผลให้ สมศ. ถูกสั่งให้ "ชะลอ" การประเมินภายนอกรอบ 4 ออกไป เพื่อปรับปรุงตัวบ่งชี้...
ในห้วงเวลานั้น นายชาญณรงค์ได้ออกมาตอบโต้ 4 เครือข่าย ว่าเป็นเพราะกลัว "ไม่ผ่าน" การประเมิน!!
หลังคำสั่ง คสช. สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของผู้อำนวยการ สมศ. ดูเหมือนนายชาญณรงค์จะทราบชะตากรรมของตัวเองแทบจะในทันที และให้สัมภาษณ์โดยไม่มีทีท่าโต้แย้ง มีเพียงน้ำตาคลอในบางช่วงว่า
"ยอมรับคำสั่ง และต้องปฏิบัติตาม เชื่อว่าผู้ใหญ่ตัดสินใจดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนรอบการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมามีหลากหลายแนวคิด ส่วนการประเมินในรอบ 4 จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่นั้น ต้องรอดู เพราะตัวบ่งชี้ต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย ต้องปรับเปลี่ยนให้หลากหลายมากขึ้น เชื่อว่าการประเมินรอบ 4 จะมีสีสัน"
ถือเป็นการ "ยอมรับ" โชคชะตา โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ!!
ส่วนนายคมศร ซึ่งเข้ามารับบทหนักแทน ก็ออกตัวว่า ไม่รู้สึกหนักใจ การบริหารงานของ สมศ. นับจากนี้ จะยึดตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนกรณีที่รัฐบาลสั่งให้ชะลอการประเมินออกไป 2 ปีเพื่อทบทวนตัวบ่งชี้ และปรับปรุงการทำงานของ สมศ. นั้น ขณะนี้ตัวบ่งชี้คืบหน้าไปค่อนข้างมาก ถ้าทำเสร็จก่อนกำหนด จะเสนอรัฐบาลพิจารณา
ส่วนจะใช้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
คราวนี้ลองมาฟังผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ เริ่มจาก "พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยอมรับว่า ศธ. เคยสะท้อนปัญหาในการปฏิบัติงานของ สมศ. ไปยังรัฐบาล เนื่องจาก สมศ. ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มี "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแล แต่ทำงานเชื่อมโยงกับ ศธ. คิดว่า คสช. คงดูความเหมาะสม เชื่อว่าจากนี้การทำงานจะพูดคุยกันมากขึ้น ผู้ประเมิน และผู้รับการประเมิน ต้องยอมรับซึ่งกันและกัน อยากเห็นการประเมินทั้งภายใน และภายนอก ที่นำผลการประเมินไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริง เพราะสิ่งที่ สมศ. ทำมาหลายปีไม่เห็นผล ตรงกันข้ามกลับทำให้เสียโอกาส และเสียงบประมาณ
ด้าน "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกไม่แปลกใจ และเป็นไปตามคาด พร้อมทั้งฟันธงเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. ในครั้งนี้ว่าจะมาจากความเห็นต่าง และความขัดแย้งเรื่องการประกันคุณภาพ
โดยที่ผ่านมา "นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์" รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. อยากให้ สมศ. ปรับปรุงตัวชี้วัด และการประเมินให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเดินหน้าประเมินรอบที่ 4
แต่นายชาญณรงค์ "ดื้อดึง" ที่จะประเมินรอบ 4 ตามกรอบเวลาที่กำหนดมาตลอด สุดท้ายก็ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่มีความเห็นต่างระหว่าง สมศ. กับนโยบายของรัฐบาล และ ศธ. จึงอยากให้ชะลอการประเมินรอบ 4 ไว้ก่อน แล้วปรับปรุงการทำงาน และปรับปรุงตัวชี้วัดให้เสร็จก่อน แต่ สมศ. ก็ยังคงเดินหน้าที่จะประเมินตามกรอบเวลาเดิม
"ส่วนตัวมองว่านายกฯ ยังใช้อำนาจไม่เต็มที่ ยังใช้โอกาส สมศ. เพราะสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตัวผู้อำนวยการ สมศ. แต่ยังคงคณะกรรมการบริหาร สมศ. ไว้ ฉะนั้น นายคมศร และคณะกรรมการบริหาร สมศ. จะต้องทบทวนบทบาทขององค์กร และดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และ ศธ. ส่วนนายชาญณรงค์จะมีโอกาสกลับมาอีกหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นปลดถาวร เพราะที่ผ่านมาให้โอกาสหลายรอบ แต่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง" นายสมพงษ์กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจาก ศธ. เห็นว่า คำสั่งนี้ชัดเจนว่ามีผลโดยตรงที่ตัวบุคคล ไม่ใช่องค์กร และยังตั้งผู้บริหารงานแทนทันที หมายความว่าการทำงานขององค์กรจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น เท่าที่ดูน่าจะมาจากความ "ดื้อรั้น" ของนายชาญณรงค์ ที่ไม่ยอมทำตามนโยบายของรัฐบาล อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากกระแสข่าวลือความไม่ชอบมาพากล ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องทุจริต แต่มีผู้ไปให้ข้อมูลกับทางรัฐบาล
จากเสียงสะท้อน ดูเหมือนคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ จะได้รับเสียง "ปรบมือ" กึกก้องจากผู้คนในแวดวงการศึกษา...
ปิดท้ายที่ "นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์" อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนใหม่ ซึ่งแนะแนวทางในการประเมินภายนอก และประกันคุณภาพนอก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องเป็นการประเมินที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ แต่มีวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และเหมาะสมกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย
ที่สำคัญ จะต้องใช้ผลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอน และการผลิตบัณฑิต อีกทั้ง วิธีการประเมินต้องไม่เป็นภาระกับผู้เกี่ยวข้องมากจนกระทบงานหลัก จึงควรหาวิธีการประเมินที่สร้างสรรค์ และเป็นที่ยอมรับ
ก็ต้องตามดูกันต่อไป สำหรับ "รักษาการผู้อำนวยการ สมศ." คนใหม่!!
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2559
เผยแพร่บนเว็บไซต์ กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559