"อาภรณ์" ยอมรับปัญหาธรรมาภิบาลในมหา'ลัยแก้ยาก ชี้จะแก้ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ระบุการแก้กฎหมายเป็นแค่การแก้ปัญหาทางอ้อม ขณะที่การใช้ ม.44 ก็แค่เป็นการแก้เฉพาะหน้า
วันนี้ (25 พ.ค.) น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยถึงปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยมีปัญหาธรรมาภิบาล ดูได้จากข้อร้องเรียนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหาร, ผู้บริหารกับบุคลากร หรือเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ แต่หากทุกคนในมหาวิทยาลัยยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ปัญหาก็จะไม่เกิด ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ก็พยายามส่งเสริมให้ทุกมหาวิทยาลัยมีธรรมาภิบาล โดยมีทั้งหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารมหาวิทยาลัย และบุคลากร แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องบุคคล และการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า การจะให้ สกอ.แก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาทางอ้อม เพราะถ้าทุกคนมีธรรมาภิบาล เป็นคนดี มีความโปร่งใส ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง การแก้ไขกฎหมายก็ไม่จำเป็น ส่วนข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาแก้ไขปัญหานั้น ก็เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า เพราะหากบุคคลไม่นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ เมื่อยกเลิกใช้มาตรา 44 ปัญหาต่าง ๆ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม
“สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครที่มีการมองว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในหลักสูตรนอกเวลาหรือหลักสูตรพิเศษนั้น สกอ.ทำหน้าที่เพียงรับทราบหลักสูตร ส่วนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเพราะผู้เรียนต้องจ่ายเองทั้งหมด ไม่เหมือนหลักสูตรปกติที่รัฐจะช่วยจ่ายบางส่วน และปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพิเศษกันมาก ก็ทำให้มหาวิทยาลัยและอาจารย์มีรายได้ด้วย”เลขาธิการกกอ.กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 เวลา 17:49 น.