เลขาฯ กกอ.ชี้หลักสูตรนอกเวลาเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดเพื่อให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ มาเรียนต่อยอด อาจต้องปิดตัวเองไปโดยปริยายหลังคุรุสภามีนโยบายยกเลิก ให้ผู้ประสงค์เป็นผู้บริหารไม่ต้องผ่านหลักสูตรเหล่านี้อีก
นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ที่สาเหตุส่วนหนึ่งถูกมองว่าเกิดจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์หลักสูตรนอกเวลา หรือหลักสูตรพิเศษ ว่าหลักสูตรนอกเวลาเรียน หรือที่ทุกคนเรียกว่าหลักสูตรพิเศษ เป็นการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่ง สกอ.ทำหน้าที่เพียงรับทราบหลักสูตรเท่านั้น
เลขาฯ กกอ.กล่าวว่า โดยเกณฑ์การพิจารณาหลักสูตร เช่น การกำหนดสัดส่วนอาจารย์ หน่วยกิต เป็นต้น จะเป็นไปตามเกณฑ์เช่นเดียวกับหลักสูตรปกติ แต่สาเหตุที่ทำให้หลักสูตรนอกเวลาเรียนมีค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะหลักสูตรปกติ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งและผู้เรียนออกส่วนหนึ่ง แต่หลักสูตรนอกเวลาเรียน ผู้เรียนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณาค่าใช้จ่ายในแต่ละหลักสูตร ขณะเดียวกันหลักสูตรพิเศษจะเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมกับวัยทำงานที่ต้องการมาต่อยอดวุฒิทางการศึกษา เช่น หลักสูตรการบริหารการศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นคุณครูที่ต้องการเป็นผู้บริหารมาเรียน เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของคุรุสภา ซึ่งกำหนดว่าครูจะเป็นผู้บริหารได้ต้องมีวุฒิการบริหารการศึกษา ทำให้ครูที่อยากเป็นผู้บริหารมาเรียนจำนวนมาก และมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนมาก แต่อนาคตคุรุสภากำลังพิจารณาจะยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหากมีการยกเลิกเกณฑ์ ครูไม่มาเรียน มหาวิทยาลัยคงปิดหลักสูตรนอกเวลาเรียนเหล่านี้ลง อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนอกเวลาเรียน ปัจจุบันมีการเปิดสอนจำนวนมาก เพราะทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีรายได้
สำหรับปัญหาระหว่างอาจารย์ในหลักสูตรพิเศษของ มภร.พระนคร นางสาวอาภรณ์กล่าวว่า คิดว่าปัญหาหลักอยู่ที่การมีธรรมาภิบาลของแต่ละคน แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียน ปัญหาระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหาร, ผู้บริหารกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย หรือเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องเหล่านี้หากทุกมหาวิทยาลัยยึดหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารงานก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของการรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ยุติธรรม แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการจะให้ทุกมหาวิทยาลัย ผู้บริหารมีหลักธรรมาภิบาล เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ต้องเกิดจากการกระทำของบุคคลนั้นๆ ส่วนจะให้ สกอ.แก้กฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดธรรมาภิบาลนั้น แม้จะทำได้ แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาทางอ้อม เพราะถ้าทุกคนมีธรรมาภิบาล เป็นคนดี มีความโปร่งใส ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง การแก้ไขกฎหมายอาจไม่จำเป็น เช่นเดียวกับการเสนอให้ใช้มาตรา 44 อาจเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมีความคิดว่าควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งการเป็นผู้อำนวยการ รร.และรอง ผอ.รร.ต่างๆ โดยผู้บริหารโรงเรียนไม่ควรได้ตำแหน่งจากการสอบอย่างเดียว แต่ควรต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหารประกอบด้วย หรือควรเป็น ผอ.รร.ขนาดเล็กมาก่อนที่จะมาเป็น ผอ.รร.ขนาดใหญ่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ปัจจุบันเปิดโอกาสให้ครูผู้ช่วยสอน 2 ปี หรือครูที่ทำงาน 6 ปี รวม 8 ปี และมีวิทยฐานะเป็นผู้ชำนาญการ สามารถสอบเป็น ผอ.สถานศึกษาได้ ทำให้เกิดปัญหาครูที่อยากเป็นผู้บริหาร รร.มุ่งแต่เรียนเพื่อสอบเป็นผู้บริหาร และไม่สนใจการสอนเด็กเท่าที่ควร ซึ่งแนวทางการพิจารณาผู้บริหารสถานศึกษาตามกรอบใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.).
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2559