ศธ.ผุดระบบไล่บี้..เคลียร์610คดีทุจริต!! ล่าช้า = ไม่ยุติธรรม : ทีมข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก รายงาน
“ปัญหาการทุจริต" เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศชาติ เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่ง "วงการครู" ที่เต็มไปด้วยบุคลากรที่อุดมไปด้วยปัญญา!!
รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดไม่เอาทุจริตและมีนโยบายให้ทุกกระทรวงต้องไปจัดการปัญหาทุจริตที่หมักหมมอยู่ให้หมดสิ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ส่ง “บิ๊กน้อย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ลงมาจัดการเรื่องนี้ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต ในทีมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่ล้วนเชี่ยวชาญในการปราบปรามการทุจริต เชี่ยวชาญกฎหมาย รวมถึงสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ตลอดจนผู้แทนสายงานนิติการจากองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ รวมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้วย
ทั้งนี้ ผลจากการขับเคลื่อนการทำงานช่วงระยะเวลา 1 ปี พบข้อมูลว่า ศธ.มีคดีทุจริตทั้งสิ้น 610 คดี และมีการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 298 คดี เท่ากับว่ายังเหลืออีก 292 คดี ที่ยังสะสางไม่แล้วเสร็จ ในจำนวนนี้ก็มีคดีใหญ่ๆ ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อวงการแม่พิมพ์และสังคมจับตามองการจัดการปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กรณีนำเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 2,500 ล้านบาท ไปซื้อ “ตั๋วสัญญา” กับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี กว่า 1 ปีมานี้ มีการส่งเรื่องไปให้ ปปง.นำไปสู่การอายัดทรัพย์ของอดีตผู้บริหาร สกสค.จำนวน 418 ล้านบาท และกำลังรอลุ้นว่า ศาลแพ่งจะมีคำวินิจฉัยตามที่ สกสค.ยื่นขอให้ทรัพย์สินที่อายัดไว้ตกเป็นของ สกสค.หรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีที่ สกสค.ซื้อหุ้นของบริษัทหนองคายน่าอยู่ จำกัด เพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน บ้านป่าตอง ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย และยังไม่รวมถึงการทุจริตสร้างสนามฟุตซอลวงเงิน 689 ล้านบาท ที่มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2555 ในพื้นที่ 21 จังหวัด 400 กว่าโรงเรียน การทุจริตโครงการจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือแชร์ลอตเตอรี่ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูใน 11 จังหวัดที่เกิดเหตุมาหลายปีแล้ว เป็นปัญหาที่ต้องจับตาดูบทสรุปต่อไป
ส่วนคดีที่ค้างลากยาวมากว่า 3 ปี และเพิ่งมีบทสรุปคือ การทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษและเหตุจำเป็น ว 12 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 คดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ข้าราชการระดับซี 8 ถึงซี 11 สมัยที่ นายชินภัทร ภูมิรัตน นั่งเก้าอี้เลขาธิการ กพฐ. รวม 6 คน ล่าสุดเดือนเมษายน 2559 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สพฐ. ทำหน้าที่แทน อ.ก.พ.กระทรวง ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้ ลงโทษปลดออกจากราชการ นายชินภัทร กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการอันเป็นให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85(7) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 รวมทั้งให้ปลดออกจากราชการ นายไกร เกษทัน ผอ.สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน เนื่องจากใน
ช่วงที่เกิดปัญหานายไกรดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) อย่างไรก็ดี นายชินภัทร และนายไกร สามารถยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่รับทราบคำสั่งปลดออกจากราชการ
ในอนาคตเพื่อให้การติดตามคดีต่างๆ ที่ค้างอยู่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ดร.พิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำและดำเนินการแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา พล.อ.สุรเชษฐ์ได้กำชับให้เร่งรัดติดตามเรื่องการทุจริตทั้งหมดของหน่วยงานใน ศธ. โดยเฉพาะกรณีการทุจริตในหน้าที่ราชการ และมอบให้ตนหาแนวทางนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนา “โปรแกรมการเร่งรัดติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการทางวินัยเกี่ยวกับทุจริต” เป็นระบบออนไลน์ที่ให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าใช้ระบบกรอกข้อมูล ผู้มาร้องเรียนได้ตลอดเวลา ลดภาระการจัดส่งเอกสาร ซึ่งระบบจะบันทึกข้อมูลไว้ โดยคณะทำงานจะคอยตรวจสอบข้อมูลและติดตามว่าแต่ละหน่วยงานจัดการปัญหาเป็นไปตามกระบวนการและระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนหรือไม่
ทั้งนี้ กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่ได้รับการร้องเรียนภายใน 7 วันผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยเช่นไร หากวินิจฉัยว่าให้ยุติก็จบ แจ้งเข้าระบบบันทึกผล กรณีวินิจฉัยว่ามีมูลก็จะเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีระยะทำงานภายใน 30 วัน ถ้าพบว่าไม่มีมูลก็ยุติ แต่ถ้าพบมีมูลก็จะไปสู่กระบวนการต่อไป นั่นคือตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย แบ่งเป็น การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งกรณีหลังกระบวนการสอบสวนจะต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน อย่างไรก็ตาม กรณีสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะมีขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกรอบเวลากำหนดตามระเบียบ บางขั้นตอนมีคำวินิจฉัยแล้ว แต่ก็ยังเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาอีก
“จะมีการวางระบบการเข้าถึงข้อมูลตามลำดับชั้นความลับด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลข้อมูลรั่วไหล และในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถจำแนกได้ด้วยว่า พื้นที่ใดพบปัญหาร้องเรียนทุจริตมากที่สุด อาทิ โซนสีแดง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามาก จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามตรวจสอบใกล้ชิด หรือโซนสีขาว แสดงว่าไม่มีปัญหาเลย จุดนี้ยิ่งน่าสนใจ ควรไปติดตามเพื่อดูว่าเขามีระบบบริหารจัดการเช่นไร นำมาถอดบทเรียน ที่สุดแล้วระบบนี้จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้บริหาร และยังช่วยจัดการแก้ไขให้ทุกหน่วยงานของ ศธ.ขจัดปัญหาทุจริตให้หมดสิ้น” ดร.พิษณุ กล่าว
ในตอนท้าย ดร.พิษณุเน้นย้ำด้วยว่า หลักการสำคัญของการติดตามปัญหาทุจริตคือ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการตัดสินพิจารณาโทษของแต่ละหน่วยงาน แต่มุ่งเน้นเร่งรัด ติดตามให้การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมาย เพราะความล่าช้าก็ถือเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง
ข้อมูลการร้องเรียนทุจริตใน 10 หน่วยงานที่รวบรวมในช่วงเวลา 1 ปี พบมีการร้องเรียนทุจริต 610 เรื่อง แก้ไขปัญหาแล้ว 298 เรื่อง อยู่ระหว่างแก้ไข 292 เรื่อง และยังไม่ได้ดำเนินการ 20 เรื่อง จำแนกดังนี้
1.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทุจริต 54 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 32 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 22 เรื่อง
2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุจริต 300 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 201 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 99 เรื่อง
3.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทุจริต 7 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 เรื่อง
4.สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทุจริต 94 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 87 เรื่อง
5.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทุจริต 1 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 เรื่อง
6.สำนักงานปลัด ศธ.เรื่องทุจริต 14 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 เรื่อง
7.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องทุจริต 115 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 30 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 65 เรื่อง ยังไม่ได้ดำเนินการ 20 เรื่อง
8.สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เรื่องทุจริต 3 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 เรื่อง
9.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เรื่องทุจริต 10 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 เรื่อง
10.องค์การค้าของ สกสค. เรื่องทุจริต 12 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 เรื่อง
ที่มา คม ชัด ลึก วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559