พลิกโฉมการพัฒนาคุณภาพ ภายในสถานศึกษา : บทเรียนจากต่างแดน และแบบจำลองการยกระดับสถานศึกษาไทย จากมุมมองของธนาคารโลก
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษา” โดยมีวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้อำนวยการและครูจากโรงเรียนขนาดกลางในเขตชนบทกว่า 100 คนเข้าร่วมจากทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้(28-29เม.ย.59)ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ กรุงเทพฯ
เริ่มด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ให้แนวคิดการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาว่า “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ถูกต้อง ร้อยละ 90 เป็นการพัฒนาจากภายในห้องเรียน ส่วนกลไกประเมินและพัฒนาภายนอกเป็นเพียงตัวเสริม แต่ประเทศไทยใช้การประเมินภายนอก เพราะหลงที่การวัดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่สามารถตีตลาดทั่วโลกได้ เพราะใช้มาตรฐานการตรวจประเมินภายในเป็นตัวนำ ปัจจุบัน รมว.ศึกษาธิการสิงคโปร์ยังออกมาประกาศแก้ทัศนคติพ่อแม่บ้าเกรด และความเก่งของผู้เรียนว่า ไม่ใช่เป้าหมายของคนสิงคโปร์อีกต่อไป แต่สิงคโปร์ต้องการพลเมืองที่มีคุณลักษณะที่ดี การพัฒนาครูจึงต้องเปลี่ยนจากการอบรมที่พรากครูจากห้องเรียน และทำให้เกิดอาชีพ “รับจ้างอบรม” เป็นการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เน้นการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างครูและผู้อำนวยการโรงเรียนโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง”
พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึงการพัฒนาภายในว่า ปัจจุบันสพฐ.มีโรงเรียนจำนวน 30,816 โรง มีความแตกต่างทั้งบริบทและคุณภาพจึงพยายามทำโรงเรียนที่มีคุณภาพที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนมาตรฐานสากล จำนวน 700 กว่าโรงเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นๆ และเป็นแนวทางให้ผู้ตรวจ ประเมินความก้าวหน้าว่าเป็นรูปแบบวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ ส่วนจะพัฒนาโรงเรียนอย่างไรนั้น ต้องคำนึงถึงบริบทและเป้าหมายของผู้เรียนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ล่าสุดเราใช้โรงเรียนประชารัฐเป็นต้นแบบปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งมีแนวคิดตามที่สสค.ลงไปจุดประกายให้คนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หากปล่อยให้รัฐดำเนินการเพียงอย่างเดียวก็จะเกิดข้อจำกัด
ไม่เพียงเท่านั้น วงเสวนาครั้งนี้ได้หยิบยกกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จ เริ่มจากเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติสายก้าวหน้าที่สุดในโลก "จูเลียน ไวท์ลีย์" หัวหน้าผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ ภูเก็ตอคาเดมี เล่าถึงจุดเด่นของโรงเรียนนานาชาติที่มีเครือข่ายหลากหลายใน 56 ประเทศว่า วิธีคิดคือจะทำอย่างไรให้สามารถควบคุมคุณภาพเครือข่ายโรงเรียนเหล่านั้นได้ โดยเขาได้นำเสนอระบบประกันคุณภาพใน 3 ระบบที่ ร.ร.นานาชาติภูเก็ต อคาเดมีใช้ ได้แก่
1) การตรวจเยี่ยมของหลักสูตรของอังกฤษในต่างประเทศ (British Schools Overseas: BSO) เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ สร้างให้ผู้ปกครองและสาธารณชนเกิดความเชื่อถือในมาตรฐาน เน้นการใช้แบบสอบถาม การประเมินตนเอง การสร้างมาตรฐานและตัวชี้วัดร่วม การตรวจเยี่ยมและการเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะ
2) ระบบรับรองมาตรฐานการศึกษาของสภารับรองมาตรฐานการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ (Council of International Schools Accreditation: CIS) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาคุณภาพผ่านกระบวนการตรวจสอบตนเองอย่างเข้มงวด และการประเมินจากภายนอก และ 3) การวัดประเมินการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง (Learning Architecture, Learning Culture, Learning Ecology: ACE) เป็นวิธีการประเมินในอนาคตที่เน้นการเปลี่ยนถ่ายการเรียนรู้ และให้ค่าการประเมินในหลายมิติ เช่น ความพยายามในการสอนของครู หรือความพยายามในการเรียนของผู้เรียน มากกว่าการดูเพียงคะแนน นอกจากนี้ยังฉายให้เห็นระบบการทำงานและกระบวนการพัฒนาว่ามีรูปแบบอย่างไรและใครต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน
“ไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายในด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากการพัฒนาร่วมกันด้วยความสมัครใจ หากคิดเรื่องการพัฒนาโรงเรียนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สุดท้ายต้องนำการประเมินที่ได้สู่การใช้ประโยชน์เพื่อการสนับสนุนการทำงาน”
ด้าน จิมมี่ ทัน นักการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ จากมุมมองผู้อำนวยการโรงเรียน สะท้อนว่า สิงคโปร์ใช้ระบบ 4P ประกอบด้วย 1) การสร้างจุดมุ่งหมายร่วม (propose) ของโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ พ่อแม่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2) คน (people) การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้รับผิดชอบตามบทบาทเพื่อนำสู่เป้าหมายและความคาดหวังร่วมกัน 3) กระบวนการ (process) สะท้อนถึงการตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้อง และ 4) ผลิตผล (product) เน้นการรายงาน แผนการพัฒนาโรงเรียนและการติดตาม ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมุมมองจากคนภายนอกระบบการศึกษาบนฐานข้อมูลจริง สิ่งสำคัญคือต้องชี้ชัดว่าเป้าหมายร่วมกันจากทุกฝ่ายคืออะไร เพื่อนำไปสู่การวางแผนและต้องส่งผลต่อนักเรียน องค์กรภายนอกจะมีหน้าที่เพียงยืนยันกับสิ่งที่โรงเรียนคิดว่าใช่หรือไม่ แต่ครูคือหัวใจในการเคลื่อนสู่เป้าหมาย
“คนไทยมักสนใจเฉพาะกระบวนการและผลลัพธ์ แต่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับคนและเป้าหมาย เพราะไม่เช่นนั้นการดำเนินงานอาจผิดเพี้ยน ในส่วนรางวัลและคำขู่จากหน่วยเหนือนั้น ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบต้องไม่ทำให้ผู้บริหารหรือครูหลุดจากหน้าที่หลักคือการจัดการเรียนการสอน”
สำหรับประเทศไทยได้มีมุมมองจากธนาคารโลก โดย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากธนาคารโลก ได้นำเสนอมิติความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาและแนวทางแก้ไขพบว่า ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่ทรัพยากรไม่เพียงพอ แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ทำให้ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างโรงเรียนในชนบทและในเขตเมืองและผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ เวียดนามซึ่งเคยประสบปัญหาเดียวกันจึงใช้ “ระบบการจัดเก็บข้อมูลโรงเรียน” เพื่อสร้างเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำด้านทรัพยากรทางการศึกษา ควบคู่กับการสร้างระบบตรวจสอบว่าโรงเรียนปรับปรุงคุณภาพเพียงใด และมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ในปี 2005
“เราต้องใช้ครูเพิ่มขึ้นถึง 108,000 คนเพื่อจัดสรรให้ได้ครบทุกห้องเรียน ดังนั้นต้องสร้างรูปแบบ “การจัดเครือข่ายโรงเรียนใหม่” เนื่องจาก 85% ของโรงเรียนขนาดเล็ก หรือจำนวน 19,864 แห่ง ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนต่อชั้นเรียน ตั้งอยู่ในระยะการเดินทางไม่เกิน 20 นาทีจากโรงเรียนอื่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรการเกิดที่ลดลง อย่างไรก็ตามยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีความจำเป็นเพื่อจำนวน 2,921 แห่ง จุดจัดการที่สำคัญคือการพัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง 4,514 แห่ง และโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ห่างไกลอีกจำนวน 3,124 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะกระทบผู้เรียนถึง 1.59 ล้านคน โดยการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนศูนย์กลางที่มีคุณภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรและครูให้เพียงพอ และการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับค่าเดินทาง รถรับส่ง หรือการสอนพิเศษเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มาจากต่างโรงเรียน พร้อมกับมีการวางแผนติดตามประเมินผลในระยะยาว"
ทั้งนี้การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาที่เหมือนกันทั่วโลกคือ “ต้องเริ่มจากความร่วมมือของคนภายในโรงเรียน” โดยแบ่งบทบาทที่ชัดเจนหากมีผู้ช่วยจากภายนอกเข้ามาพัฒนาร่วมกัน ผู้บริหารจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทและความสำคัญมากต่อการพลิกโฉมให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน
ที่มา คม ชัด ลึก วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2559