รัฐอัดฉีดงบยกเครื่องฯยกเครื่อง "บ้านพักครู" ทั่วประเทศเติมขวัญกำลังใจแม่พิมพ์
“มนุษย์มีความต้องการคล้ายๆกัน 5 ด้าน 1.มีปัจจัยดำรงชีวิต มีร่างกายแข็งแรงดี มีความสุขดี มีที่อยู่อาศัย 2.มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต 3.เปี่ยมไปด้วยความรักและยอมรับของคนรอบตัว 4.เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งหลาย และ 5.บรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งตนไปตลอดชีวิต” คำกล่าวของ มาสโลว์ (MASLOW) ปราชญ์จิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม
แต่สำหรับบรรดาแม่พิมพ์ของชาติแล้ว คงเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะแค่เพียงข้อแรกที่ “มาสโลว์” ได้กล่าวไว้ ในส่วนของที่อยู่อาศัย ครูส่วนใหญ่เกือบทั่วประเทศกลับมีที่พักที่แสนจะโกโรโกโส
เห็นได้จากสภาพบ้านพักครูทั่วประเทศ ซึ่งมีสภาพชำรุด ทรุดโทรมอย่างหนัก หนักหนาสาหัสขนาดที่บางแห่งไม่สามารถจะเข้าไปอยู่อาศัยได้ จนถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าก็มีจำนวนมาก
แน่นอนหากบ้านพักครูซึ่งเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และเป็นความต้องการของมนุษย์ยังไม่ได้รับการดูแล ย่อมมีส่วนบั่นทอนขวัญกำลังใจแม่พิมพ์ไม่มากก็น้อย ในการที่จะมีจิตใจทุ่มเทพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นได้
หากย้อนอดีตเกี่ยวกับบ้านพักครูที่เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งที่โอนโรงเรียนประชาบาลไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2509 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งก็เริ่มสร้างบ้านพักครูแบบบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีห้องนอนสามห้องอยู่ด้านบน และมีห้องน้ำห้องครัวอยู่ด้านล่าง เมื่อมีการพัฒนาแบบแปลนบ้านจากบ้านไม้เป็นคอนกรีต การสร้างห้องแถวสองชั้นหลายๆห้องให้ครูอยู่กันหลายคน หรือหลายครอบครัว เพื่อมิให้ครูต้องเดินทางไกลไปทำการสอน
แต่หลังจากครั้งนั้น ยิ่งวันเวลาผ่านไปหลายยุคหลายสมัยในหลายรัฐบาลนานเกือบครึ่งศตวรรษ บ้านพักครูก็ไม่เคยได้รับงบประมาณชนิดเป็นกอบเป็นกำมาใช้ในการดูแลซ่อมแซม หรือจัดสร้างใหม่ ทั้งๆที่เกิดความชำรุดเสียหายอยู่ทุกหนแห่ง บางแห่งเสาไม้โย้เย้ หน้าต่างหลุด บันไดชำรุด หลังคาก็รั่วเปียกบรรดาครูที่พักอาศัยต้องทนอยู่อย่างจำใจบนความทุกข์ กลายเป็นความเบื่อหน่าย และท้อแท้โดยแท้
การถูกละเลยไม่ใส่ใจในอดีตที่ผ่านมานี้ นับเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลพวงต่อครูบางส่วน ต้องขวนขวายหาทางดูแลความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว ซึ่งนำไปสู่การกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายอื่นสารพัดตามมา ส่งผลต่อครูมีหนี้สินให้ปริวิตก ไม่มีจิตใจทุ่มเทในการสอนหนังสือ และนัยว่าเป็นสาเหตุหนึ่งให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำย่ำแย่
แต่จะด้วยเพราะความเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของครูอย่างถ่องแท้ หรือที่มีหลายคนแอบเดาว่าเป็นความต้องการซื้อใจบรรดาเรือจ้าง ในยุคของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็น รมว.ศึกษาธิการ จึงมีการประกาศนโยบายชัดเจนที่จะให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องที่พักอาศัยให้กับครู ทั้งได้ ประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ 2559 ด้วยการปรับปรุงบ้านพักครูสี่หมื่นหลังให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
โดยหวังจะเป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนาการเรียนการสอนนักเรียนซึ่งจากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า มีบ้านพักครูอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 44,359 หลัง ในจำนวนดังกล่าวมีมากถึง 37,290 หลัง ที่รับใช้ให้ครูได้พักอาศัยมากว่า 25 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 84.06 และต่ำกว่า 25 ปี จำนวน 7,069 หลัง คิดเป็นร้อยละ 15.94
เมื่อจำแนกลึกลงไป พบว่ามีบ้านพักครูที่ยังมีสภาพดีอยู่ จำนวน 9,945 หลัง คิดเป็นร้อยละ 22.42 สภาพพอใช้ จำนวน 17,624 หลัง คิดเป็นร้อยละ 39.73 และมีสภาพชำรุด จำนวน 16,790 หลัง คิดเป็นร้อยละ 37.85
“จากข้อมูลที่พบดังกล่าว สพฐ.จึงให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาของบประมาณไปซ่อมบ้านพักครู เขตละ 45 โรงเรียน โรงเรียนละ 200,000 บาท” นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยพร้อมเน้นย้ำว่า “บ้านพักครูที่จะซ่อมแซมเร่งด่วนในปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ชำรุดอย่างหนัก 2,345 หลัง เป็นเงิน 462,556,600 บาท ขณะนี้ซ่อมแซมเสร็จแล้ว 1,330 หลัง อีก 1,015 หลัง อยู่ระหว่างซ่อมแซม แต่แม้จะซ่อมแซมในจำนวนเหล่านี้เสร็จแล้ว สพฐ.ก็จะเดินหน้าซ่อมแซมในส่วนที่เหลืออีกต่อไป”
หันมาทางด้านแม่พิมพ์ของชาติ นายนนทนัตถ์ งามเลิศ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลดำรงราชานุสรณ์ จ.ศรีสะเกษ สะท้อนถึงนโยบายซ่อมบ้านพักครูภายในโรงเรียนของรัฐบาล ว่า “หากรัฐบาลไม่มีนโยบายซ่อมบ้านพักครู เห็นทีพวกเราคงต้องอยู่แต่บ้านโทรมๆต่อไปแต่ไหนแต่ไรมาครูในโรงเรียนนี้และครอบครัวราว 31 คน ที่พักในบ้าน พักครูมีเพียง 7 หลัง และห้องแถว 2 หลัง เกือบทุกหลังจะชำรุด และหลังคารั่ว พอฝนตกทีไร เสื้อผ้าและของใช้ในบ้านก็จะเปียกปอน แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายซ่อมบ้านพักครู จัดงบฯมาซ่อมบ้านที่ชำรุดพวกนี้ บ้านพักของครูเหล่านี้จึงมั่นคงแข็งแรงขึ้น มีความสะดวกสบายและสวยงามเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ เมื่อถามเกี่ยวกับเรื่องบ้านพักครูทุกคนต่างล้วนพึงพอใจในระดับดีมาก ถึงร้อยละ 100 อย่างไม่เคยมีมาก่อน”
ขณะที่แผนระยะยาวที่ สพฐ.ขานรับนโยบายของรัฐบาลและจะเดินเครื่องขับเคลื่อนต่อไป คือในปีงบฯ 2560 จะผลักดันให้มีการซ่อมแซมบ้านพักครูที่ชำรุดระดับปานกลางอีก จำนวน 7,226 หลัง งบฯ 1,395,214,600 บาท และปีงบฯ 2561 ซ่อมแซมบ้านพักครูที่ชำรุดเล็กน้อยอีก จำนวน 7,219 หลัง งบฯ 1,299,420,000 บาท
“ทีมการศึกษา” มองว่าของขวัญปีใหม่ 2559 ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็น รมว.ศึกษาธิการ มอบให้แม่พิมพ์ของชาติ ด้วยการปรับปรุงบ้านพักครูสี่หมื่นหลังให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากที่ถูกละเลยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ น่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับแม่พิมพ์ได้อย่างถูกจุด
ทั้งเราเชื่อว่าเมื่อครูมีขวัญและกำลังใจที่ดีก็จะส่งผลต่อการทุ่มเท ช่วยผลักดันให้คุณภาพการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้นตามมา แต่สิ่งที่เราห่วงใยและต้องขอฝากไว้คือความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างรวมถึงการจัดสรรบ้านพักครูอย่างเที่ยงธรรมและตรงไปตรงมาที่สุด
เพราะนั่นคือการเริ่มต้นเดินเครื่องเติมเต็มขวัญกำลังใจ “ปฏิรูปพลังครู” อย่างถูกจุด!!!
ทีมการศึกษา
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 24 พ.ค. 2559 เวลา 05:01 น.