ขอบคุณข้อมูล จาก : www.Masii.co.th
การที่เราจะมีเงินเก็บจำนวนมาก ไม่ได้หมายความเราต้องได้เงินเดือนสูงเสมอไป แต่หากเราเงินเดือนน้อยถึงปานกลาง และเป็นคนที่มีวินัยการเก็บเงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และอิ่นๆ ที่ทำให้เงินสูญไปโดยใช้เหตุ ก็สามารถมีเงินเก็บจำนวนมากได้ครับ เริ่มต้นเก็บเงินวันนี้ยังไม่สายครับ
เรามาดู 7 วิธีมีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้นภายใน 1 ปี ใครๆ ก็ทำได้
1. อย่าติดชื่อแบรนด์
หากเคยเป็นคนติดอยู่กับอะไรเดิมๆ ใช้ของเดิมๆ แบรนด์เดิมๆ ซึ่งก็เข้าใจได้นะว่า หลายคนอาจจะพอใจ หรือมั่นใจในแบรนด์ที่ใช้อยู่แล้ว แต่หากราคามันสูงเกินไป ลองหันมาดูแบรนด์อื่นๆ ไว้บ้างนะครับ
ลองเปรียบเทียบกันดูว่า ส่วนต่างมันคุ้มค่ากว่าหรือเปล่า โดยเฉพาะพวกเสื้อผ้าหลายๆแบรนด์แพงมาก!! ซึ่งบางครั้งแต่งตัวให้เป็นก็พอ อย่าไปเสียเงินกับสินค้าแบรนด์มากเกินไป รับรองมีเงินเก็บเพิ่มแน่ครับ
2.จัดการหนี้เก่าให้หมดก่อน
เป็นสิ่งแรกที่เราควรทำเลยนะครับ การที่จะมีเงินเก็บให้มากขึ้น เราต้องจัดการกับหนี้ทุกอย่างให้หมดเสียก่อน พวกหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อต่างๆ แม้ว่าบัตรเครดิตจะทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่รับรองเลยว่าบิลที่เรียกเก็บหากไม่สมดุลกันระหว่างเดือน รับรองไม่เหลือเงินให้เก็บแน่นอน
3.วางแผนการท่องเที่ยว
การไปท่องเที่ยวถือเป็นการผ่อนคลายทีดีเยี่ยม เพื่อที่จะได้ไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ตามธรรมชาติ ซึ่งเราควรต้องมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า และการจองตั๋วเครื่องบิน หรือที่พักล่วงหน้า หรือก่อนช่วงเทศกาลราคาจะถูกจากเดิม 30% ทีเดียว
หากอยากไปเที่ยวแบบมีเงินเก็บ เราก็ควรวางแผนกิจกรรมท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าเลย อย่างน้อยก็ล่วงหน้า 6 เดือน – 1 ปี จะได้มีเงินพ็อกเก็ตมันนี่ ที่จะนำไปซื้อของฝากให้คนสำคัญๆ อีกด้วย
4.โชคดี ส้มหล่น อย่าเพิ่งใช้หมด
เงินก้อนโต มันไม่ได้มาบ่อยๆ และถือว่าเราเป็นคนมีโชคมากคนนึง เนื่องไม่ใช่ทุกคนจะได้นะครับ เช่น มรดก รางวัลต่างๆ ลอตเตอรี่ เงินปันผลกองทุน ฯลฯ ทางที่ดีนำเงินก้อนนี้ไปออม หรือลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยมากขึ้น
5.จัดสรรเงินออมให้เหมาะสม
ควรแบ่งเงินออมเป็นกอง เงินเพื่อใช้จ่าย + เงินเผื่อฉุกเฉิน + เงินเพื่อลงทุนเงิน ออมแต่ละกองมีหน้าที่แตกต่างกัน
●กองแรก เงินออมเพื่อใช้จ่าย มีหน้าที่สร้างสภาพคล่อง และมีเงินใช้ตามที่เราต้องการ โดยปกติควรมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน
●กองสอง เงินออมเผื่อฉุกเฉิน มีหน้าที่เสริมสภาพคล่องในช่วงที่มีความต้องการใช้เงินเกินกว่าปกติ โดยปกติควรมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน
●กองสุดท้าย เงินออมเพื่อลงทุน มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นต้องเป็นเงินที่สามารถนำไปลงทุนได้นาน โดยนำไปลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้ลึกรู้จริง และรับความเสี่ยงได้
6.รู้จักปฏิเสธให้เป็น
ใครชวนไปไหน ไปหมดทุกงาน ไม่ว่าจะงานราษฎร์ งานหลวง ยิ่งช่วงเทศกาลต่างๆ กินเที่ยวกระหน่ำเกือบทุกวัน ลองคิดดูว่าใช้เงินไปกับสิ่งนี้เท่าไหร ควรรู้จักปฏิเสธให้เป็น แต่เลือกที่ไปเฉพาะบางงานจะดีกว่านะครับ เพราะจะเป็นการประหยัด ซึ่งจะส่งผลให้เรามีเงินเก็บอีกด้วย
7.ห้ามมองข้ามค่าธรรมเนียม
ในยุคนี้เราสามารถจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ ได้หลายช่องทางมากขึ้น เช่น ตัดผ่านธนาคาร ชำระผ่านบัตรเครดิต ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก จ่ายผ่าน ATM จ่ายผ่านมือถือ และอีกหลายช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกให้เราจ่ายบิลง่ายขึ้น
ซึ่งการที่เราจะเลือกช่องทางไหนเหมาะสม แนะนำว่าเราควรตัดสินใจที่ค่าธรรมเนียมเป็นหลัก ซึ่งถ้าเลือกได้ เราก็คงต้องการเลือกฟรีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว บางคนคิดว่าไม่สำคัญเน้นที่ความสะดวกมากกว่า ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมบิลละ 10-15 บาท ซึ่งถ้าจ่ายเพียงเดือนเดียวอาจจะดูไม่เยอะ แต่ถ้าสะสมเป็นปีจะเป็นเท่าไหร่
ยิ่งถ้าชำระทุกอย่างที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมละก็ รวมๆ กันแล้วก็ไม่ใช่น้อยๆ เช่น เราจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ 3 บิลๆ ละ 15 บาท รวมเดือนนึงก็ 45 บาท แล้วถ้ารวมเป็น 1 ปีจะเป็นเงิน 540 บาท!! ซึ่งเป็นเงินที่เราไม่ควรจะเสียเลยนะครับ
วันนี้เราได้รู้วิธีมีเงินเก็บให้มากๆ กันไปแล้วนะครับ อย่าลืมลองนำไปประยุกต์ใช้งานตามสไตส์ตัวเองดูนะครับ จะได้มีเงินเก็บเยอะๆ เมื่อมีเงินเก็บเยอะๆก็สามารถนำเงินไปลงทุนทำนูนนี่ได้อีกเยอะเลย อนาคตบั้นปลายชีวิตจะได้สบายๆ กันนะครับ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 23 พ.ค. 2559 เวลา 19:21:56 น.