บทความพิเศษ
เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ มหาวิทยาลัยสยาม
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผู้ใหญ่ก็มักจะบ่นว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นพวกรักสบายและหมกมุ่นในเรื่องของตัวเองเท่านั้น
แต่แล้วโลกก็ยังดำรงอยู่มาได้ เมื่อเด็กพวกนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่และเริ่มปกครองสังคมแทนคนรุ่นเก่า นั่นเพราะพวกเขาได้ถูกขัดเกลาโดยความจริงที่โหดร้ายของโลกใบนี้ ให้กลายเป็นคนที่รับผิดชอบและอดทนยิ่งขึ้นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
หากทว่า นับจากการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ทุกสิ่งก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ธรรมชาติของเด็กและวัยรุ่นแทบทุกคนก็คือ การมีความใฝ่ฝันและทะยานอยากในเรื่องที่ไม่สมจริง
อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคก่อนอินเตอร์เน็ตที่ข้อมูลข่าวสารยังไม่แพร่สะพัดไปทั่วนั้น ความอยากได้ขนมและของเล่นของเด็กๆ ทั้งหลาย ก็จะถูกบั่นทอนกำลังลงได้พอสมควร จากการที่เห็นเพื่อนๆ ของตนเอง ก็ไม่ได้มีวัตถุสิ่งของที่เหนือกว่าเท่าไรนัก
เมื่อผิดหวังนานวันเข้าก็จะกลายเป็นความเคยชินและยอมรับสภาพไปในที่สุด
แน่นอนว่า ย่อมมีเพื่อนที่รวยกว่าซึ่งมีของเล่นชิ้นใหม่ๆ มาอวดเด็กคนอื่นได้อย่างสม่ำเสมอ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คนส่วนน้อย ซึ่งสุดท้ายก็จะค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป
ครั้นเมื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ได้ถือกำเนิดขึ้น ความอยากได้ทางวัตถุของเด็กๆ จะไม่ถูกเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นที่อยู่ร่วมโรงเรียนเดียวกันเท่านั้น หากทว่า พวกเขายังสามารถนำตนเองไปเปรียบเทียบกับเด็กทั้งหลายบนโลกใบนี้ได้
ลูกหลานมหาเศรษฐีที่อาจเป็นคนเพียงแค่ 1% บนโลกใบนี้ ก็สามารถกลายเป็น 30% ในสายตาของเด็กที่อยากได้ของเล่นเช่นกัน เนื่องจากเด็กที่ไม่มีปัญญาซื้อของเล่นแพงๆ ได้นั้น ก็ย่อมถูกตัดทิ้งไปจากกลุ่มตัวอย่างในหัวสมองของเด็กที่อยากได้ของเล่นนั้น จึงกลายเป็นว่า มองไปทางใดก็เห็นแต่คนที่เขามีของเล่นดีๆ มากกว่าเรา โดยไม่ทันเฉลียวใจเลยว่า นั่นเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมเท่านั้น
ที่เลวร้ายกว่า ก็คือ ความสามารถทางการตลาดของบริษัทในโลกยุคนี้ซึ่งเหนือชั้นกว่าในโลกยุคก่อน อย่างไม่เห็นฝุ่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า "เด็กยุคใหม่" ย่อมถูกกระตุ้นความอยากได้มากกว่าเด็กยุคก่อนนับสิบหรือร้อยเท่า
"ทําน้อยจะเอาเยอะ ไม่ทำเลยจะเอาหมด" เป็นคำดุว่าของครูคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมของผมเมื่อหลายสิบปีก่อน
แต่กระนั้น มันก็ไม่อาจนำมาใช้กับคนรุ่นผมได้อย่างยั่งยืนนัก เพราะเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาเหล่านั้นก็ได้ถูกความจริงที่โหดร้ายของชีวิตขัดเกลาไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของเด็กรุ่นปัจจุบันที่จะต้องเติบโตเป็น ผู้ใหญ่ในอนาคตข้างหน้า เพราะพวกเขาได้ถูกกล่อมเกลาโดยอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์อย่างรุนแรง กว่าคนรุ่นผมนับสิบหรือร้อยเท่า
หากทว่า เราจะไปโทษเด็กรุ่นใหม่ทั้งหมดก็ไม่เป็นธรรมนัก เพราะพวกเขาเป็นเหยื่อหรือชะตากรรมของยุคสมัยมากกว่า
เมื่อชี้นิ้วไปยังบริษัททั้งหลายซึ่งงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้อย่างบ้า คลั่ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อเด็กและเยาวชนเลยนั้น ก็อาจจะไม่ยุติธรรมเช่นกัน
เพราะหากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำยอดขายให้เติบโตขึ้นทุกปีแล้ว มันจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหา แล้วก็จะลามไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคนที่อาจจะต้องโดนไล่ออกหรือ ลดเงินเดือน ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์นัก
การสั่งปิดอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายไม่ให้เข้าถึงลูกหลานของ เรา แม้จะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาดนัก
เพราะนั่นเท่ากับเป็นการขัดขวางความก้าวหน้าของโลกใบนี้
ทางออกที่ผมคิดว่าดีที่สุด ก็คือ การคิดใหม่ทำใหม่ของผู้ปกครองทั้งหลายนั่นเอง
ผู้ปกครองควรจะเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า "การให้เด็กทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอม เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเหนือกว่าการส่งลูกไปเรียนกวดวิชา"
โดยผู้ปกครองจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่าคะแนนสอบของเด็กให้ได้ เพราะการให้เด็กทำงานพิเศษจะเป็นวิธีเดียวในการทำให้พวกเขาได้รู้ซึ้งรสชาติ ความลำบากของชีวิตได้ตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่น
การที่พวกเขาได้ตระหนักรู้ว่าเงินทองนั้นไม่ได้มาโดยง่าย ก็อาจจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้พวกเขาขยันเรียนหนังสือได้มากกว่าเดิมอีกด้วย เพราะพวกเขาย่อมรู้ซึ้งจากประสบการณ์ของการทำงานพิเศษว่า หากพวกเขาเรียนไม่สำเร็จแล้ว บทสรุปสุดท้ายก็จะต้องมาทำงานที่เหนื่อยกาย แต่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าทั้งหลายนี้
ที่สำคัญก็คือ ทัศนคติของบริษัทในทุกวันนี้ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างขนานใหญ่
หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจกับพลังไฟและความกระตือรือร้นในการทำงาน (Passion) มากกว่าคะแนนสวยหรูในใบปริญญาบัตร
เพราะพวกเขาล้วนซาบซึ้งดีว่า เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นล้วนมาจากหยาดเหงื่อและความทุ่มเท มากกว่าความฉลาดในหัวสมองที่ไม่ยอมลงมือทำ
ชีวิตที่เต็มไปด้วยความกระหายต้องการเงินเดือนสูงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในปีแรก ขณะที่ไม่ยอมทุ่มเทอะไรให้บริษัทเลย หากงานนั้นไม่ได้รางวัลตอบแทนที่มากพอ ก็ย่อมไม่เป็นที่สบอารมณ์ของนายจ้างหรือหัวหน้างานอย่างแน่นอน
และนั่นย่อมหมายถึงชีวิตการทำงานที่ไม่ราบรื่นของเด็กคนนั้น แม้ว่าจะเรียนจบมาจากสถาบันการศึกษาชื่อดังก็ตาม
จงเริ่มเปลี่ยนชีวิตของเยาวชนไทยตั้งแต่ในวัยที่ยังพอดัดได้
เพราะหากไม่กระทำในวันนี้ ก็จะมีแรงงานสมองจากเวียดนามหรือประเทศที่ขยันขันแข็งอื่นๆ ในอาเซียน เข้ามาแย่งงานคนไทยไปอย่างหน้าตาเฉย
ยังไม่นับว่าเศรษฐกิจไทยที่ไม่มีนวัตกรรมมาหลายปีแล้ว ก็อาจจะถึงขั้นทรุดโทรมไปแบบกู่ไม่กลับ เพียงเพราะคนรุ่นใหม่ของไทยไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะต่อสู้ในโลกทุนนิยมที่ โหดร้ายนี้
ยังคงมีความหวังอยู่เสมอว่าประเทศไทยจะมีโอกาสแก้ตัวอีกสักครั้ง?
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 พ.ค. 2559 เวลา 14:28:58 น.