สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษา" ด้วยการหยิบยกกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาเป็นตัวอย่างสำหรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
ที่เริ่มจากการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติซึ่งมี "จูเลียน ไวท์ลีย์" หัวหน้าผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติภูเก็ต อคาเดมี มาเล่าถึงจุดเด่นของโรงเรียนนานาชาติที่มีเครือข่ายใน 56 ประเทศว่า วิธีคิดคือจะทำอย่างไรให้สามารถควบคุมคุณภาพเครือข่ายโรงเรียนเพราะระบบประกันคุณภาพที่ ร.ร.นานาชาติภูเก็ต อคาเดมีใช้ ได้แก่
1.การตรวจเยี่ยมหลักสูตรของอังกฤษในต่างประเทศ เพื่อช่วยโรงเรียนพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพ เน้นการใช้แบบสอบถาม การประเมินตนเอง การสร้างมาตรฐาน และตัวชี้วัดร่วม รวมถึงการตรวจเยี่ยมและการเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะ
2.ระบบรับรองมาตรฐานการศึกษาของสภารับรองมาตรฐานการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาคุณภาพผ่านกระบวนการตรวจสอบตนเองอย่างเข้มงวด และการประเมินจากภายนอก
3.การวัดประเมินการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง เป็นวิธีการประเมินในอนาคตที่เน้นการเปลี่ยนถ่ายการเรียนรู้ และให้ค่าการประเมินในหลายมิติ เช่น ความพยายามในการสอนของครู หรือความพยายามในการเรียนของผู้เรียน มากกว่าการดูเพียงคะแนน
"ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายในด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากการพัฒนาร่วมกันด้วยความสมัครใจ หากคิดเรื่องการพัฒนาโรงเรียนแล้วจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเหมือนกัน แต่สุดท้าย ต้องนำการประเมินมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการทำงาน"
ขณะที่ "จิมมี่ ทัน" นักการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการประเทศสิงคโปร์บอกว่า สิงคโปร์ใช้ระบบ 4P ประกอบด้วย P-Perpose เป็นการสร้างจุดมุ่งหมายร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ P-People ที่จะต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้รับผิดชอบตามบทบาท เพื่อนำสู่เป้าหมายและความคาดหวังร่วมกัน นอกจากนั้น ยังครอบคลุมถึงกระบวนการ P-Process ที่สะท้อนถึงการตรวจสอบ และการยืนยันความถูกต้อง
ส่วน P ตัวสุดท้ายคือ Product หรือผลิตผล อันหมายถึงเน้นการรายงาน แผนการพัฒนาโรงเรียนและการติดตาม ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมุมมองจากคนภายนอกระบบการศึกษาบนฐานข้อมูลจริง สิ่งสำคัญจะต้องชี้ชัดว่าเป้าหมายร่วมกันจากทุกฝ่ายคืออะไร เพื่อนำไปสู่การวางแผน และต้องส่งผลต่อนักเรียน ในส่วนการประเมินจากส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ ต้องไม่ทำให้ผู้บริหารหรือครูหลุดจากหน้าที่หลักคือการจัดการเรียนการสอน"
สำหรับมุมมองจากประเทศไทย"ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์" นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากธนาคารโลก นำเสนอมิติความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาว่าประเทศไทยขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ทำให้ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างโรงเรียนชนบทและเขตเมือง ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำ
"เราต้องใช้ครูเพิ่มขึ้นถึง 108,000 คนเพื่อจัดสรรให้ได้ครบทุกห้องเรียน ดังนั้น จึงต้องสร้างรูปแบบการจัดเครือข่ายโรงเรียนใหม่ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น อันเนื่องมาจากประชากรเกิดใหม่ลดลง โดยปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็ก 19,864 แห่งที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนต่อชั้นเรียน และตั้งอยู่ในระยะการเดินทางไม่เกิน 20 นาทีจากโรงเรียนอื่น รวมถึงยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีความจำเป็นต้องคงไว้อีก 2,921 แห่ง"
"ดร.ดิลกะ" เสนอว่า จุดจัดการที่สำคัญคือการพัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง 4,514 แห่ง และโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ห่างไกลอีกจำนวน 3,124 แห่งให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะกระทบต่อผู้เรียนถึง 1.59 ล้านคน โดยควรพัฒนาให้เป็นโรงเรียนศูนย์กลางที่มีคุณภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรและครูให้เพียงพอ และจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับค่าเดินทาง รถรับส่ง หรือการสอนพิเศษเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มาจากต่างโรงเรียน พร้อมกับมีการวางแผนติดตามประเมินผลในระยะยาว
เพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้มีความทันสมัยเสียที
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2559