ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
- รับทราบข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559
- การสร้างการรับรู้นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบ สพฐ. จัดทำคลิปวิดีโอสั้นๆ เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ต่อสาธารณชนต่อไป
- การซ่อมแซมบ้านพักครู นายกรัฐมนตรีได้ฝากขอบคุณหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยซ่อมบ้านพักครูได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป พร้อมขยายไปยังบ้านพักของครู สอศ. และครู กศน. ด้วย
- หนังสือประวัติศาสตร์ไทย ขอให้จัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ไทยฉบับย่อภาคภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กได้นำติดตัวไปเรียนต่อในต่างประเทศ พร้อมมอบให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ด้วย
- หนี้สินครู ฝากดูแลติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น
- การประชาสัมพันธ์ ขอให้ข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษาได้ติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆ เป็นประจำทุกวัน เพื่อจะได้รู้ประเด็นข่าวและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ หรือประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง
- รับทราบผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวน 517,076 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559) มีผลการใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงจำนวน 321,459 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.17 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
- รับทราบการใช้บัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สพฐ.
ที่ประชุมรับทราบหลักการในการใช้บัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่ง ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้ยุบเลิก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้โอนอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาไปเป็นของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และเพื่อให้การบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วยสังกัด สพฐ. ปี 2558 มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยสรุป คือ
1) ให้ กศจ.รวมบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2558 เป็นบัญชี กศจ.อีกหนึ่งบัญชี พร้อมแจ้งไปยังผู้สอบแข่งขันในแต่ละกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ประสงค์จะเข้ารับการประเมินเพื่อจัดลำดับใหม่ในบัญชีของ กศจ. โดยผู้สอบแข่งขันได้จะยังคงมีสิทธิ์ในบัญชี-ในลำดับ-มีอายุบัญชีเท่าเดิม ส่วนการขึ้นบัญชีของ กศจ. ก็จะมีอายุเท่าบัญชีเท่าเดิมเช่นกัน
2) ให้ กศจ.เรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้มาบรรจุและแต่งตั้ง
- กรณีเขตพื้นที่การศึกษาใดมีบัญชีของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้เรียกตัวจากบัญชีของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษานั้น ในส่วนบัญชีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้บรรจุและแต่งตั้งได้เฉพาะจังหวัดที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานั้น
- กรณีเขตพื้นที่การศึกษาใดไม่มีบัญชีอยู่เดิม หรือเรียกหมดบัญชี หรือบัญชีถูกยกเลิก ให้เรียกตัวจากบัญชีของ กศจ. หากไม่มีบัญชีของ กศจ.ให้ขอบัญชีจาก กศจ.อื่นในพื้นที่ภาคเดียวกัน โดยความเห็นชอบจากศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และหากไม่มีบัญชีของ กศจ.ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงภาคเดียวกัน ให้ขอใช้บัญชีจาก กศจ.พื้นที่ใกล้เคียงในภาคอื่น โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ.
- รับทราบผลงานสุดยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา
ที่ประชุมรับทราบผลการประกวดสุดยอดสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาในงาน 27th International Invention & Innovation Exhibition (ITEX’16) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2559 ณ ประเทศมาเลเซีย โดยมีผลงานนักศึกษาไทยได้รับรางวัล 3 ผลงาน ได้แก่
1) ผลงาน “เตาชีวมลไฮบริด” ของนายธนาวัฒน์ อัตรา และนายสิทธิไชย สิงห์มหาไชย วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Malaysian Invention and Design Society) และ Honor of Invention (President World Invention Intellectual Property Associations)
2) ผลงาน “เครื่องรีไซเคิลขยะขวดแก้วแทนทราย ทำอิฐสร้างบ้าน” ของนายวุฒิพร โยธา และนายชาญชัย แฮวอู วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Malaysian Invention and Design Society) และ Honor of Invention (President World Invention Intellectual Property Associations)
3) ผลงาน “การพัฒนาคอมพิวเตอร์จิ๋วสำหรับนักประดิษฐ์ตัวน้อย” ของนายสรรเพชร ตรงจิตรจริง วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา และนายธฤต ไชยมงคล วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Malaysian Invention and Design Society) และ Excellent Award
นอกจากนี้ มีผลงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาของวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมที่จะส่งต่อให้วิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำนวน 3 ผลงาน คือ 1) เครื่องป้องกันเด็กติดในรถ ที่จะตรวจจับและแจ้งเตือนสิ่งเคลื่อนไหวภายในรถผ่านลำโพงไซเรนและโทรศัพท์มือถือ 2) ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ โดยมีการแจ้งเตือนเมื่อมีปริมาณก๊าซสูงเกินที่ระบบกำหนด 3) เครื่องทุบทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำ
ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย โดยเห็นควรให้มีการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานได้จริง มีการพัฒนาไปสู่สินค้าในเชิงพาณิชย์ หรือเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต่อไป และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาคัดเลือกนวัตกรรมที่จะสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เป็นสินค้าที่มีแบรนด์และวางขายในท้องตลอด อาทิ การจับคู่กับภาคเอกชนในคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2), การเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดย่อม (SMEs), การให้เด็กเป็นผู้ผลิตเอง โดยมีเงินกองทุนสนับสนุนในการผลิต เป็นต้น
- รับทราบการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน
ที่ประชุมรับทราบการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2559 โดยใช้หลักการจัดการศึกษาบนพื้นฐานความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบต่อตนเอง (จรรยาบรรณต่อตนเอง-วิชาชีพ-ผู้รับบริการ-ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ-สังคม) และความรับผิดชอบต่อผลิต (ผลการปฏิบัติงาน) ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ
1) สภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียน ซึ่งจะต้องมีการดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาดร่มรื่น ปลอดภัย ซ่อมแซมอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา และสนามกีฬาให้มีความมั่นคง ตลอดจนจัดระบบสุขาภิบาล ทั้งในโรงอาหาร ห้องน้ำ ให้มีความสะอาด สำรวจจุดอับ-จุดอันตราย จัดจุดรับ-ส่ง และที่จอดรถ
2) สวัสดิการและสวัสดิภาพนักเรียน มีการประสานโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุข เพื่อตรวจสุขภาพ ปลูกฝังสุขนิสัยที่ดี การล้างมือ-แปรงฟันที่ถูกวิธี การดูแลสุขภาวะของนักเรียน ทั้งความสะอาดของผม เล็บมือ-เท้า ภาวะทุพโภชนาการ
3) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หามาตรการป้องกันและวางแผนแก้ไขปัญหาที่จะเกิดกับนักเรียน ได้แก่ การก่อเหตุทะเลาะวิวาท ล่วงละเมิด หนีเรียน ยาเสพติด อุบัติเหตุ ตลอดจนสอดส่องการเล่นการพนัน โดยจะต้องทำประกันชีวิตของนักเรียนและมอบหมายครูรับผิดชอบดูแล สอดส่อง รักษาความปลอดภัย รวมทั้งวางแผนเยี่ยมบ้านนักเรียน
4) การเตรียมการรับภัยพิบัติ มีการให้ความรู้ในการป้องกันตัว หลีกเลี่ยง และเอาชีวิตรอด โดยจะต้องจัดทำคู่มือ แนวทางปฏิบัติ มาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา พร้อมหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานต่างๆ เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ
5) ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาโรงเรียน ตลอดจนช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรเตรียมมาตรการรองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาคด้วย เช่น แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ, สึนามิพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้, น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำระบบรายงานผลการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน โดยเป็นแบบรายงานอย่างง่ายหรือเป็นการเช็ครายการ (Check list) ที่ไม่เป็นภาระกับสถานศึกษามากเกินไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการขับเคลื่อนการทำงานเชิงรุก โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การรายงานผลการประชุมนานาชาติในต่างประเทศ โดยขอให้ผู้รับผิดชอบเร่งจัดทำรายงานผลการประชุมที่รัฐมนตรีเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม โดยให้จัดทำและเสนอนายกรัฐมนตรีรับทราบภายใน 2 สัปดาห์ภายหลังปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น รวมทั้งให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำคลิปวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์บทบาทด้านการศึกษาไทยในต่างประเทศสั้นๆ 2-3 นาที เพื่อนำไปเผยแพร่ผลการประชุมด้านการศึกษาที่สำคัญในต่างประเทศ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้เห็นถึงบทบาทด้านการศึกษาของไทยในเวทีระดับนานาชาติ
- คลิปวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้มีการจัดทำคลิปวีดิทัศน์ ซึ่งนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละองค์กรหลักเป็นเวลาประมาณ 3-5 นาที ส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรวบรวมส่งกรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
อนึ่ง ก่อนการประชุม รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับนางสาวอำภรณ์ ช่างเกวียน ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ "ข้าราชการต้นแบบ คนดีของแผ่นดิน" ประจำปี 2558 ของสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 18 พฤษภาคม 2559