"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"ชงปรับโครงสร้าง ศธ.-"เสมา1"ดันตกซ้ำชั้นกระตุ้นผู้เรียน
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือกับนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้กฎหมายการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงชั้น ป.6 แยกสายสามัญและสายอาชีวะ ตั้งแต่ชั้น ม.1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมรับประกันเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ รวมถึงยังมีแนวคิดให้เด็กที่จบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินก็ให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งทุกประเด็นที่ผู้ตรวจการฯ เสนอค่อนข้างเห็นตรงกัน แต่วิธีการแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงกัน
โดยตนได้เชิญนายศรีราชา มาหารือร่วมกันอีกรอบ เนื่องจากผู้ตรวจการฯ มีแนวคิดจะปรับโครงสร้าง ศธ.ด้วย จึงอยากมาดูว่าแนวคิดจะเป็นอย่างไร
"ผมได้ถามหลักคิดของนายศรีราชา ที่เสนอให้เด็กที่จบ ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดนั้น เพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้ตั้งใจเรียน โดยใช้วิธีการบังคับให้เรียน ซึ่งส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว น่าจะหาวิธีการอื่นที่ทำให้เด็กตระหนักและตั้งใจเรียน อาทิ การเรียนซ้ำชั้น เป็นต้น โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างจริงจัง การตกซ้ำชั้นจะสร้างความรับผิดชอบ ทำให้เด็กตั้งใจเรียนได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมานโยบายตกซ้ำชั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่โรงเรียนไม่ได้ดำเนินการเท่านั้น ส่วนที่ผู้ตรวจการฯ เสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัย - ป.6 นั้น ยังไม่ขอตอบ เพราะไม่แม่นเรื่องข้อมูล" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เวลา 15.39 น.