[ หัวข้อข่าวโดย ไทยโพสต์ ]
"รมว.ศธ." ยอมรับเสนอใช้อำนาจ ม.44 ปลด "ผอ.สมศ." ชี้ 8-9 ปี ผลการประเมินไม่สามารถใช้แก้ปัญหาการศึกษาได้จริง ทำให้เสียโอกาสและงบประมาณ เผยต่อไป ศธ.กับ สมศ.ต้องทำงานใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้าน "ชาญณรงค์" ยอมรับ เชื่อว่าผู้ใหญ่ตัดสินใจดีแล้ว ส่วน "คมศร" รักษาการ ผอ. ระบุมีกระแสปรับโครงสร้าง สมศ.มาสักพักแล้ว
จากกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งที่ 23/2559 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. (องค์การมหาชน) ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าหัวหน้า คสช.มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกและการประเมินผลการจัดการศึกษา อันเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาในแต่ละระดับ เป็นไปตามความมุ่งหมายและหลักการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า สมศ.เป็นองค์การมหาชนที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในการกำกับดูแลของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แต่ทำงานสัมพันธ์กับ ศธ. เพราะ สมศ.ทำหน้าที่ประเมินสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ตนคิดว่าทาง คสช.คงจะมองตามความเหมาะสมในการทำงาน ซึ่งจากนี้ ศธ.คงได้ทำงานแบบพูดคุยกับ สมศ.มากขึ้น เพราะผู้ประเมินและผู้รับการประเมินจะต้องไปด้วยกันยอมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวคงไม่เกิดผลกระทบต่อการประเมิน เพราะได้มีการชะลอเรื่องการประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
"ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับการประเมินค่อนข้างที่จะยอมรับการประเมินของ สมศ. แต่ด้วยเหตุผลอะไรคงต้องไปคิดเอา และผลการประเมินผมคิดว่าควรจะเป็นส่วนที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง แต่อยู่กันมา 8-9 ปี มันไม่ได้อะไรกลับมาก็เสียโอกาส เสียงบประมาณ ผมคิดว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินภายนอกคงต้องมีอยู่ แต่การประเมินทั้งภายในและภายนอกต้องคุยกัน" รมว.ศธ.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอของ ศธ.หรือไม่ พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ยอมรับว่า ศธ.เคยรายงานเรื่องปัญหาในการปฏิบัติงานของ สมศ.
ด้านนายชาญณรงค์กล่าวว่า ตนยอมรับในคำสั่งและต้องปฏิบัติตาม เชื่อว่าผู้ใหญ่ตัดสินใจดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนรอบการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมามีหลากหลายแนวคิด ส่วนการประเมินในรอบ 4 จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่นั้นคงต้องรอดู เพราะขณะนี้ตัวบ่งชี้ต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย ต้องรอความพร้อมจากหลายๆ ส่วน ทั้งจากผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน ซึ่งในรอบ 4 ตัวบ่งชี้ก็มีการปรับเปลี่ยน มีความหลากหลายมากขึ้น เชื่อว่าการประเมินรอบ 4 จะมีสีสันมาก ทั้งนี้ โดยส่วนตัวไม่ห่วงงานที่ สมศ. เพราะมีการวางระบบที่สามารถขับเคลื่อนงานได้ ทั้งยังมีกรรมการอีก 4 ชุดซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถทุกคน
"ผมไม่กังวลอะไร เชื่อมือนายคมศร เพราะทำงานมาด้วยกันตลอด และคงจะไม่ไปชี้แจงหรือขอเหตุผลใดๆ จาก พล.อ.อ.ประจิน เพราะผู้ใหญ่สั่งอะไรมาก็ต้องทำตามทั้งนั้น" นายชาญณรงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เสียใจหรือไม่ที่ คสช.มีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ นายชาญณรงค์ยิ้ม และเลี่ยงที่จะตอบคำถาม พร้อมกับมีน้ำตาคลอเบ้า
ด้านนายคมศร วงษ์รักษา รอง ผอ.สมศ. รักษาราชการแทน ผอ.สมศ. กล่าวว่า ตนไม่ทราบมาก่อนว่า คสช.จะมีคำสั่งนี้ แต่หากมองในเรื่องของการทำงาน คิดว่าไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะตนร่วมบริหารงานใน สมศ.มาตั้งแต่ต้น โดยจากนี้การบริหารงานจะยึดตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนกรณีที่รัฐบาลสั่งให้ชะลอการประเมินออกไป 2 ปี เพื่อทบทวนตัวบ่งชี้และปรับปรุงการทำงานของ สมศ.นั้น ขณะนี้การจัดทำบ่งชี้ต่างๆ มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก หากดำเนินการเสร็จก่อนกำหนดก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ส่วนจะใช้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานต่างๆ ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะว่าการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว
“ที่ผ่านมา พอทราบบ้างว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ สมศ. และผมเคยเสนอให้มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยการบริหารจัดการ สมศ. แต่ไม่คิดว่าผมเองจะมาเป็นผู้รับผิดชอบในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ สมศ. ซึ่งหลังจากนี้การบริหารงานต่างๆ คงต้องดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบ และจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะถ้าเรามีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยไม่ได้คิดตามใจตนเอง ไม่คิดถึงผู้อื่น หรือหวังเพียงประโยชน์ส่วนตน ก็มั่นใจว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี” รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.กล่าว
ด้านนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดถึงการใช้คำสั่งมาตรา 44 เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่การประเมินยังมีความสำคัญ ทั้งการประเมินภายในและประกันคุณภาพนอก แต่ต้องเป็นการประเมินที่มีมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และมีวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย ที่สำคัญเมื่อประเมินแล้วจะต้องใช้ผลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุง เช่น หลักสูตรการเรียนการสอน และการผลิตบัณฑิต อีกทั้งวิธีการประเมินจะต้องไม่เป็นภาระกับผู้เกี่ยวข้องมากจนกระทบงานหลัก ซึ่งวันนี้ภาพออกมาในลักษณะนั้น มหาวิทยาลัยใช้เวลากับการประเมินจนกระทบงานหลัก ดังนั้นจึงควรหาวิธีการประเมินที่สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับ.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2559