นายองค์กร อมรสิรินันท์ อดีตเลขาธิการคุรุสภา พร้อมด้วยตัวแทนสภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ฯลฯ เข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นข้อเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายองค์กร อมรสิรินันท์ กล่าวว่า สภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทย ซึ่งมี 27 องค์กรครูทั่วประเทศ ได้เข้าพบเพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งได้ประกาศใช้มากว่า 1 ปี 1 เดือน ตัวแทนครูทั้ง 27 องค์กรได้กลั่นกรองร่วมกันแล้วเห็นว่าคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของบุคคลดังกล่าว ทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตคืบหน้าไปมากแล้ว จึงต้องการให้การทำงานของบอร์ดทั้ง 3 ชุดเข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อจะได้มีคนทำงานอย่างเต็มเวลา เพราะทุกวันนี้เหมือนเกิดสุญญากาศในการทำงาน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 นั้น ไม่ได้ประกาศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตเท่านั้น แต่รวมถึงการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดความรวดเร็วด้วย และในโอกาสนี้ได้ขอให้สภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทยรับทราบความคืบหน้า และร่วมขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ให้มีความเหมาะสม เช่นเดียวกับการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาการศึกษาซึ่งเดิมมี 50 คน พบปัญหาเกิดความอุ้ยอ้ายและล่าช้าต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จึงได้ปรับลดลงมาเหลือ 25 คนแล้ว ดังนั้นการปรับปรุงองค์ประกอบใหม่ของคณะกรรมการ 3 ชุด จึงต้องปรับปรุงให้เหมาะสม มีการคานอำนาจของครูและผู้บริหาร โดยนำข้อบกพร่องและปัญหาในอดีตมาเป็นบทเรียน ให้เป็นองค์กรวิชาชีพครูอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา ได้พิจารณาจัดทำองค์ประกอบของบอร์ดทั้ง 3 ชุด เพื่อนำมาพิจารณาต่อไปแล้ว
- การแก้ไขปัญหาเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นใน สกสค. คือ กรณีการก่อสร้างหอพักที่เชียงใหม่, กรณี สกสค. ใช้เงิน 2,500 ล้านบาทซื้อตั๋วสัญญากับบริษัท บิลเลี่ยนอินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย, กรณี สกสค.นำเงินไปซื้อหุ้นในบริษัทหนองคายน่าอยู่เพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการยืนยันว่าจะนำเงินที่ได้คืนจากเรื่องทุจริตดังกล่าวมาคืนครูให้ได้มากที่สุด รวมทั้งกรณีชุดนักเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ซึ่งอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาโดยนำชุดนักเรียนที่ค้างในคลังสินค้ากว่า 509,000 ชุดไปขาย, เครื่องแบบการแต่งกาย อาทิ เข็มขัดลูกเสือเนตรนารีกว่า 300,000 เส้นที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะนำเงินมากกว่าหลายร้อยล้านบาทกลับคืนมา เพื่อนำไปพัฒนากิจการลูกเสือเนตรนารีต่อไป
- การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล ได้หารือร่วมกันในหลายประเด็น อาทิ การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในงาน "นายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครู คืนความสุขให้ครู คืนครูให้นักเรียน", งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในปีนี้กว่า 529,000 ล้านบาท, การสนับสนุนเรียนฟรี 15 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย, การแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันจากระบบการศึกษาภาคบังคับ, การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคล ซึ่งกำลังดำเนินการในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 3 กลุ่มให้เกิดความชัดเจน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำในที่ประชุมด้วยว่า หลายเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและกระทรวงศึกษาธิการพูดออกมาชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี แต่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) เกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าจะลดการอุดหนุนจากเรียนฟรี 15 ปี เหลือ 12 ปี จึงยืนยันได้ว่าจากนี้ไปไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะกำหนดให้มีการอุดหนุนการจัดการศึกษา 15 ปี ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้วย
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการตามนโยบายต่างๆ จะมีความเห็นของนักวิชาการ ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก เป็นเรื่องปกติธรรมดา หลายเรื่องอาจเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว หรือขั้นตอนแรกๆ ของการเสนอร่างกฎหมายเท่านั้นที่ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เมื่อมีการแชร์ข้อมูลออกไป ทำให้อาจเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันได้ ดังนั้นในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ควรจะต้องดูว่าเป็นรายละเอียดอยู่ในขั้นตอนใด หรืออยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหรือไม่ ไม่ใช่เห็นควันแล้ว จะคิดว่าต้องมีไฟด้วยทุกครั้ง ซึ่งสภาเครือข่ายองค์กรครูแห่งประเทศไทยถือเป็นองค์กรหนึ่งเพื่อวิชาชีพครูอย่างแท้จริง โดยไม่ใช้ครูและเด็กเป็นเครื่องมือหากิน จะมีส่วนสำคัญในการขยายผลข้อเท็จจริงตามนโยบายในเรื่องต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสามารถติดตามได้บนเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มาภาพและเนื้อหาจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 17 พฤษภาคม 2559