17 พ.ค. 59 - มติ สปท. 157 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้มีการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไปยังคณะรัฐมนตรี หวังให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศ เกิดการปรับปรุงกฎหมายที่สอดคล้องกับยุคสมัย พัฒนาการศึกษาไทยได้คุณภาพและมาตรฐานในทุกระดับการศึกษา
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มีมติเห็นชอบกับรายงาน เรื่องการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา และร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน และนำเสนอต่อสภา ด้วยเสียง 157 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 159 คน สำหรับความจำเป็นของการเสนอปฏิรูปกฎหมายการศึกษา และการเสนอร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาตินั้น คณะกรรมาธิการชี้แจงว่า ต้องการให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานในทุกระดับการศึกษา จึงได้ศึกษาและจัดทำโดยยึดเจตนารมณ์กฎหมายเดิม และปรับปรุงให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ยุคสมัยและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ในชั้นเรียน มากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีการปรับปรุงนิยามและบางมาตรา เพื่อให้กฎหมายแม่บทการศึกษาครอบคลุมการศึกษาส่วนอื่น ๆ ของชาติมากขึ้น อาทิ การศึกษาช่วงปฐมวัย การศึกษาเพื่ออาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมีจำนวน 11 หมวด 83 มาตรา มีสาระสำคัญในการแก้ไข อาทิ หมวด 2 สิทธิทางการศึกษา ได้กำหนดเรื่องการจัดการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้บุคคลรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี พร้อมเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสิทธิ์ด้านการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาตลอดชีวิต ให้รัฐกำหนดกลไกและสนับสนุนให้หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดบริการการศึกษาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและมีเอกภาพ มาตรา 6 กำหนดรัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่วางระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน มีระบบหลักสูตรระดับชาติเพื่อวิจัยพัฒนาหลักสูตรแกนกลางและระดับสถานศึกษา ให้ครูสามารถนำไปจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนเหมาะสมกับท้องถิ่น พร้อมมีการประเมินผล นำผลมาวิจัยพัฒนาอย่างครบวงจร ส่วนมาตรา 8 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ปรับปรุงให้ครอบคลุมการบริหารคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ประกันคุณภาพภายนอกตามเป้าหมายและหลักเกณฑ์ และให้สถานศึกษาเลือกรับการประเมินจากสถาบันประเมินและรับรองคุณภาพการศึกษาในระดับสากล ขณะ ยกเลิกการประเมินโดย สมศ.ทุก 5 ปี ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมร้องขอให้มีการประกันคุณภาพภายนอก ตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง
ที่มา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 15.38 น.