เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ศธ.ทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าจะลดการอุดหนุนจากเรียนฟรี 15 ปี เหลือ 12 ปี พร้อมทั้งสั่งการให้ ศธ.มาทำกฎหมายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เหมือนเดิมนั้น ตนได้ยกร่างประกาศ ศธ. เรื่องการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนามภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) แต่จัดทำขึ้นตามนโยบายของ ศธ. เพื่อยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการศึกษา 15 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้วย
ด้านนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลคงตัดสินใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาก็ดำเนินโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็ระบุชัดเจนว่ารัฐต้องสนับสนุนการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี และที่ผ่านมานักวิชาการเองก็ถกเถียงมาโดยตลอดว่า 12 ปี ควรจะนับจากการศึกษาภาคบังคับ ที่บังคับเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไปจนถึง ม.6 หรือลงมาในระดับปฐมวัย โดยความเห็นนักวิชาการในขณะนั้นแตกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเห็นว่าควรขยายฐานลงในข้างล่าง ในระดับปฐมวัย เพราะเป็นช่วงสำคัญของการเรียนรู้ มีงานวิจัยรองรับชัดเจน อีกส่วนเห็นว่าไม่ควรทิ้งการศึกษาในระดับ ม.ปลาย ดังนั้นรัฐบาลในขณะนั้นจึงคิดว่า เพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุด จึงดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึง ม.6
"คิดว่ารัฐบาลนี้ก็คงคิดเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลคงต้องตัดสินใจ ทำอย่างนี้ จะไปทำอย่างอื่นคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาก็ปฏิบัติแบบนี้มาโดยตลอด ซึ่งการออกมาประกาศเช่นนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนสบายใจ ถือเป็นเรื่องดี แต่การสนับสนุนต้องแยกหลายช่องทาง เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนที่เปิดสอนระดับปฐมวัยในสังกัดไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งจะมีศูนย์เด็กเล็กค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องงบประมาณในการสนับสนุนนั้นสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง ทั้งสนับสนุน 100% หรือสนับสนุนบางส่วน อาทิ ระดับ ม.ปลาย ก็อาจสนับสนุนบางส่วนได้ เช่น ค่ากิจกรรมหรือสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น" นายภาวิชกล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีที่มีคนแวดวงการศึกษาบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีที่นายกฯให้ไปออกกฎหมายลูกรองรับการอุดหนุนการเรียนฟรี 15 ปีเหมือนเดิม ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติ โดยวิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียงกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัว ซึ่งติดตามนายกฯในเรื่องการศึกษามาตลอด มองว่าไม่ใช่การหาเสียงกับพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการศึกษาและในร่างรัฐธรรมนูญก็มีหลายมาตราที่พูดถึงเรื่องการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนที่มีผู้แย้งว่าถ้าจริงใจจริงก็ควรแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเรื่องอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปีก่อนทำประชามตินั้น ตนมองว่าถ้าใครเสนออะไรแล้วต้องแก้ไขตามเลยในทันที จะเป็นการแก้ไขรายมาตราหรือไม่ ซึ่งการแก้ไขทีละมาตรา คงไม่เหมาะสม เพราะขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ได้ผ่านมาแล้ว ส่วนที่แนะให้ใช้คำถามพ่วงนั้น ตนมองว่ารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมไม่เกินหนึ่งคำถาม ซึ่งได้มีการใช้สิทธิถามเรื่องให้รัฐสภาเลือกนายกฯได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีไปแล้ว ฉะนั้นจะมาใช้กับเรื่องนี้ได้อย่างไร เท่ากับขัดกฎหมาย
"ถ้าฝ่ายเห็นต่างจะมองว่าเป็นการหาเสียงกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็มองได้ นายกฯคงต้องใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ แต่ถ้าอยากฟังเสียงพ่อแม่ผู้ปกครองจริงๆ ว่าส่วนใหญ่คิดอย่างไรก็ควรทำประชาพิจารณ์ โดยอาจมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หรือสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่เป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการ" นาย สมพงษ์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่านายกฯอาจปล่อยให้มีการถกเถียงระหว่าง 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อุดหนุนเรียนฟรี 12 ปี โดยขยายฐานลงล่างตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึง ม.3 กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปีเหมือนเดิม จนตกผลึก อย่างฝ่ายนักวิชาการสนับสนุนให้ขยายฐานลงล่าง เพราะงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางสมองมากที่สุด จึงควรได้รับการสนับสนุน เพียงแต่ที่มีคนติงก็คือ จะขยายฐานลงล่าง ไม่ว่า แต่ไม่ควรตัดข้างบน ฉะนั้นเป็นไปได้ว่านายกฯอาจปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่ายถกเถียงกันจนตกผลึก และเห็นว่าควรอุดหนุนฟรี 15 ปีเหมือนเดิม จึงได้มาสั่งการให้ ศธ.ไปออกกฎหมายลูก รองรับเรื่องนี้
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2559 (กรอบบ่าย)