นายกฯ สั่งหน่วยราชการดูงานตปท. ให้เน้นอาเซียนเป็นหลัก ใครไปยุโรป จ่ายเงินส่วนเกินเอง ลั่นไปแล้วต้องเกิดประโยชน์ สั่งรมว.ศึกษา แจงปมเรียนฟรี 12 ปีในร่างรธน.ใหม่
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่สังคมมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าลดการศึกษาภาคบังคับเหลือเพียง 12 ปีจากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้ 15 ปี ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว. ศึกษาธิการ ทำความเข้าใจกับสังคมว่าสมัยก่อนนั้นเป็นการประกาศนโยบายโดยพรรคการเมือง แต่ไม่มีอะไรรองรับ วันนี้ในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ 12 ปี หมายความว่า อย่างน้อยที่สุด 12 ปี แต่สามารถเกินจากนี้ได้ เพื่อให้สังคมเกิดสบายใจ ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับ เพราะถือว่าการศึกษาช่วยพัฒนาบุคลากรในประเทศ และให้รมว. ศึกษาฯ ไปทำกฎหมายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลยังสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ ประถมชั้นปีที่ 1 จนถึงมัธยมชั้นปีที่ 6 เหมือนเดิม นอกเหนือจากนั้น ก่อนการศึกษาในระดับอนุบาล ก็มีความสำคัญ โดยในส่วนนี้รัฐบาลจะดูแลด้วย โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ จะต้องช่วยกันดำเนินการ ส่วนงบประมาณที่ดูแลกระทรวงมหาดไทยมีอยู่แล้ว แต่ก็จะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจรัฐบาล ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ๆ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ในครม. นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับเรื่องการเดินทางไปดูงานหรืออบรมยังต่างประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า ถ้าจำเป็นต้องไปดูงานต่างประเทศ ขอให้อยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียนบวก 3 คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน เป็นหลัก ถ้าไปประเทศอื่นนอกเหนือจากนี้ รวมถึงในประเทศแถบยุโรปต้องแจ้งเหตุความจำเป็นว่าผลจากการดูงานใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้นายกฯเป็นห่วงเกรงว่าสำนักงบประมาณจะลำบากใจ จึงให้ยึดวงเงินในประเทศอาเซียนเป็นหลัก หากไปประเทศนอกเหนือจากนี้ได้ แต่เงินส่วนต่างที่เกินให้จ่ายเอง ขณะที่เอกชนต้องจ่ายเงินเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐให้เบิกตามหลักสูตร ไม่ควรเบิกตามสิทธิเดิม แต่ให้ใช้หลักสูตรเป็นตัวกำหนด และเมื่อไปแล้วต้องมีผลงานกลับมาแสดงให้สังคมเห็นและหน่วยงานต้นสังกัดที่มีคนไปเรียน หรือดูงาน ต้องนำกลับมาทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหา.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2559