นายสนอง ทาหอม ประธานสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย เป็นประธานประชุมเสวนาวิชาการเรื่อง "กรอบทิศทางการปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนโครงสร้าง ปรับสถานะ จะส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณภาพจริงหรือไม่" เพื่อระดมความคิดเห็นด้านการปฏิรูปการศึกษาที่มีผลต่อคุณภาพของผู้เรียน สังเคราะห์ความคิดนำเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีข้าราชการครูกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมศรี พฤทธาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายสนองกล่าวว่า จากการศึกษาเอกสารแนวคิดของนักวิชาการที่จะปฏิรูปประเทศใน 15 ปีข้างหน้า การศึกษาไทยจะมีลักษณะโดยสรุปว่า 1.รัฐจะไม่เป็นผู้จัดการศึกษาเอง 2.จะถ่ายโอนสถานศึกษาหรือโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนขนาดเล็กจะถูกควบรวม โรงเรียนที่มีความพร้อมให้เป็นนิติบุคคลในกำกับ อนาคตจะไม่มีข้าราชการครูจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานราชการและอัตราจ้างตามสัญญาจ้าง วิชาชีพครูจะไม่เป็นวิชาชีพควบคุม ไม่ได้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเหมือนปัจจุบัน นักเรียนจะได้รับคูปองเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเรียนฟรีจากอนุบาลถึงชั้น ม.3 ซึ่งจากการที่ได้ทำความเข้าใจกับครูทั้งประเทศมีข้อสรุปว่า เพื่อความมั่นคงของชาติ รัฐจะต้องจัดการศึกษาต่อไป ทุกโรงเรียนจะต้องไม่ถูกยุบแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ตาม ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาทุกคนต้องเป็นข้าราชการครู ฝากไปถึงรัฐบาลอยากให้รับฟังความคิดด้วย
ด้านนายวิสัย เขตสกุล ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการศึกษานั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ว่า คุณภาพของผู้เรียนจะสูงขึ้นได้อย่างไร แต่ละครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนทางการศึกษาจะอ้างว่าทำให้การศึกษาดีขึ้นทั้งสิ้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นสิ่งที่ชมรมครูฯตระหนักและตระหนกใจยิ่ง จะปรับเปลี่ยนสถานะของข้าราชการครูเป็นพนักงานของรัฐ เห็นว่าผู้ก่อการศึกษาเรื่องนี้มาน้อย ไปเชื่อนักวิชาการที่จบมาจากประเทศตะวันตกไปลอกเลียนด้านการจัดการศึกษามาใช้ ซึ่งไม่เหมาะกับการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงเรียนประชารัฐ เด็กอื่นๆ ไม่มีโอกาสเข้าเรียน จะมีโอกาสเฉพาะโรงเรียนที่รัฐทุ่มงบประมาณลงไปให้ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเด็กทั่วประเทศ เพราะว่าไม่กระจายทั่วถึง
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 11 พ.ค. 2559 (กรอบบ่าย)
นำเสนอโดย ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ