นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ ฉก.ชน.มีบทบาทในการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานผู้ปกครองและเขตพื้นที่การศึกษาในการรวบรวมข้อมูลปัญหาของเด็กนักเรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งมักพบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน มากมาย อาทิ นักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปัญหายาเสพติด ตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน การถูกคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ การไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการศึกษา โดยระดับพื้นที่จะมีศูนย์ฉก.ชน.กระจายอยู่ 226 ศูนย์ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก จำเป็นที่ต้องอาศัยนักจิตวิทยา เนื่องจากมีองค์ความรู้ มีเทคนิคในการเข้าถึงหรือทำให้เด็กกล้าเปิดใจพูดคุยได้มากกว่าพูดคุยกับคนอื่นๆ
ดังนั้น ศูนย์ ฉก.ชน.จึงได้เสนอนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ขอให้ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีนักจิตวิทยาคลินิก ประจำ 1 คน ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว โดยนำร่อง 20 เขตพื้นที่ที่ได้รับรางวัลการจัดระบบการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนดี เพราะมีศักยภาพและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2559 และประเมินผลการทำงาน 6 เดือน คือสิ้นสุดภาคเรียนที่ 1/2559 โดยศูนย์ ฉก.ชน.ได้เตรียมงบประมาณไว้ 1.8 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการทำงานดังกล่าว
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 9 พฤษภาคม 2559