รมช.ธีระเกียรติฯ บรรยายพิเศษ ถึงเวลาของการคิดใหม่ในวงการศึกษาไทย
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ “ถึงเวลาของการคิดใหม่ในวงการศึกษาไทย” ในการประชุมยกระดับคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1 เรื่อง “จะยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร” เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ โดยมี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนวิทยากรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาไทยจำนวนมาก อาทิ
"ครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก แต่ต้องมุ่งปลูกฝังความดี" (6 มิถุนายน 2555) กล่าวคือ รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันทุกคนล้วนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่เราต้องมีตำราเรียนที่ดีด้วย เนื่องจากตำราเรียนแบบดิจิทัลกับตำราเรียนแบบเป็นเล่มมีความแตกต่างกันมาก อีกทั้งการศึกษาวิจัยพบว่าหนังสือแบบ e-book มียอดขายลดลง เพราะผู้ที่อ่านหนังสือแบบ e-book จะจดจำรายละเอียดและเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ได้น้อยกว่าผู้ที่อ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม แต่หากเนื้อหาที่อ่านเป็นประเภทข่าวสังคม การอ่านหนังสือจาก e-book กับการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่มมีผลลัพธ์ที่ไม่มีความแตกต่างกัน
นอกจากนี้ คนยุคปัจจุบันจะปฏิบัติต่ออุปกรณ์ไอทีเหล่านี้เหมือน Storage Device หรือแหล่งเก็บข้อมูล เช่น เมื่ออ่านแล้วไม่ต้องจำเพราะสามารถกลับมาดูข้อมูลอีกครั้งได้ หรือไม่จำเป็นต้องจำคำศัพท์เนื่องจากสามารถเปิดพจนานุกรมออนไลน์ดูความหมายของคำได้ เป็นต้น แต่เราจะไม่มีความคิดเช่นนั้นกับการอ่านหนังสือหรือตำราเพราะถือว่าหนังสือเป็นครูและมีความสำคัญมาก ในอดีตผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ว่าบุตรหลานกำลังอ่านหนังสือประเภทใดอยู่ แต่ปัจจุบันบุตรหลานอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถรู้ได้ว่าเด็กกำลังอ่านอะไร ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะกำลังเล่น Social Media เช่น Facebook หรือ Line อยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นเรื่องดีแต่ต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ตามความเหมาะสม
"ต้องปรับปรุงครู ครูจะอายุ 40 หรือ 50 ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง" (6 มิถุนายน 2555) คือ ครูจำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก แม้ว่าจะอายุมากก็ยังสามารถเรียนรู้ได้
"ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เป็นคนเรียนเก่ง ช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิได้สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อนเพื่อให้ตนเองได้ลำดับดีๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง" (11 มิถุนายน 2555) คือ การสอนให้เด็กช่วยเหลือกัน แข่งกับตัวเอง ไม่ใช่แข่งกับเพื่อน
"ปัญหาหนึ่ง คือ การขาดครูเพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้นก่อนคัดเลือกเด็กที่จะพัฒนา ต้องพัฒนาครูก่อนให้พร้อมที่จะสอนเด็กให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงจะต้องคัดเลือกครูและพัฒนาครู ต้องตั้งฐานะในสังคมของครูให้เหมาะสม และปลูกจิตสำนึก โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายสนับสนุนโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการโยกย้ายแล้วครูไม่พอ เพราะการเปิดโอกาสให้ครูบรรจุ 2 ปี แล้วสามารถย้ายได้ทำให้ครูไม่มีสมาธิสอนหนังสือ
"เราต้องฝึกหัดให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะมากขึ้น จะได้มีความสามัคคี" (5 กรกฎาคม 2555) เพราะในขณะนี้ประเทศไทยก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความปรองดองอยู่
"ปัญหาปัจจุบัน คือ ครูมุ่งเขียนวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น และบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราจะต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดีซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมีรางวัล" การขอตำแหน่งทางวิชาการทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละกว่า 2 หมื่นล้าน ในขณะเดียวกันการตอบแทนด้วยวิธีแบบนี้อาจไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนโดยตรง ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่ต้องการจ่ายเงินครูที่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการศึกษา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในห้องเรียน ดังนั้น ครูที่มุ่งสอนหนังสือและสอนอย่างมีคุณภาพควรได้รับรางวัลตอบแทนด้วย
"ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชาก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม" (5 กรกฎาคม 2555)
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยกคำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ได้กล่าวถึงครูอาจารย์ 3 ประเภท ดังนี้
1) อาจารย์อาชีพ คือ ครูที่มีความเป็นครูไม่ว่าจะเวลาใดก็สอนนักเรียนเสมอ หรือครูที่ไม่ได้มีความคิดว่าจะไม่สอนหนังสือหากไม่มีเงินเดือน
2) อาจารย์มืออาชีพ คือ ครูที่เก่งและมีเทคนิคการสอนที่ดี รวมทั้งมีความเป็นมืออาชีพ
3) อาชีพอาจารย์ คือ ครูที่ไม่มาทำงานหรือบางครั้งก็ไม่มาสอนหนังสือ และรอรับเงินเดือนตอนสิ้นเดือน
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 4 พฤษภาคม 2559