5 พ.ค. 59 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่22/2559 เรื่องการได้มาซึ่งสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นว่า เป็นการออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่าง ซึ่งเดิมทีการเเต่งตั้งหรือรักษาการของสภาท้องถิ่นมันมีคำสั่งคสช.2ฉบับที่เเล้วมาครอบคลุมแต่ไม่ได้กำหนดขั้นตอนถ้าหากในอนาคตมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ใดถูกยุบจะต้องทำอย่างไร จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งฉบับดังกล่าวออกมา และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มอปท.ใดถูกยุบ
"คำสั่งนี้ออกมา หากในอนาคตมีอปท.ถูกยุบก็จะนำมาใช้แต่งตั้งเเทนได้ แต่คำสั่งที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดจากกรณียุบสภาท้องถิ่น แต่เป็นการพ้นจากตำเเหน่งเพราะหมดวาระ ในครั้งนี้กรณียุบสภาท้องถิ่นเพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้เสนอให้ยุบสภาท้องถิ่นภายในจังหวัด แล้วถ้าไปเเต่งตั้งเองมันก็จะไปทับซ้อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยเปลี่ยนให้เป็นตามหลักธรรมาภิบาล ให้มีคณะกรรมการตามโครงสร้าง มีผมที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน" นายกฤษฎา กล่าว
เมื่อถามว่า คำสั่งนี้จะเป็นการป้องกันการวิ่งเต้นซื้อขายตำเเหน่งในพื้นที่หรือไม่ ปลัดมท. กล่าวว่า สมมติถ้ามีผู้เสนอให้คนนี้ออก แล้วคนที่เสนอให้ออกเป็นผู้พิจารณารับคนเข้ามาใหม่ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะรับญาติตัวเองเข้ามาก็ได้ ก็ถือว่าเป็นไปตามหลักการถ่วงดุล ไม่ใช่ให้อำนาจไปอยู่ที่คนคนเดียว เสนอยุบด้วยแล้วก็มีอำนาจเเต่งตั้งใหม่ ก็จะเกิดข้อครหาขึ้นมาอีก ส่วนปัญหาการใช้งบประมาณทที่มีความขัดเเย้งในระดับท้องถิ่นนั้น ก็ไม่เกี่ยวกัน เป็นเเค่การกำหนดที่มาที่ไปเท่านั้น
"ยืนยันได้ รัฐบาลคสช.ชุดนี้จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต่อจากนี้รัฐธรรมนูญเมื่อมีการประกาศใช้ในเรื่องผู้ที่มาทำหน้าที่รัฐบาลต่อไปจะปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ว่ากัน คำสั่งนี้ออกมาเพื่ออุดช่องว่างในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แล้วก็ไม่เกี่ยวกับการเตรียมรับประชามติเลย ต้องว่ากันไปตามพระราชบัญญัติประชามติที่ออกมา" ปลัดมท. กล่าว
ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คงต้องรอดูรายละเอียดต่อจากนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอปท.ใดถูกยุบ ที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้ง แต่การบริหารในพื้นที่ยังคงมีอยู่ ก็ต้องมีผู้มาทำหน้าที่ เขาก็เลยต้องหาวิธีกำหนดคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา
"แต่ผมคิดว่ากรรมการสรรหาระดับพื้นที่ หากส่งคุณสมบัติไปให้ในระดับส่วนกลางพิจารณามันห่างกันเกินไป เพราะด้วยระบบราชการเขาอาจไม่ต้องมาพิจารณาปัญหาเล็กน้อย ผู้ใหญ่ระดับกระทรวงจะต้องมาบริหารในระดับหมู่บ้านก็คงไม่ใช่ เช่นหากจะตั้งคณะกรรมการสรรหาในระดับหมู่บ้านขึ้นมา2คนแล้วต้องไปถึงการพิจารณาในระดับปลัดกระทรวงมหาดไทย มันไม่คุ้มกับการบริหาร ขณะเดียวกันเราก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองในการกระจายอำนาจให้กับประชาชน การปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนก็ต้องนำคนที่อยู่ในระบบมาบริหารไปก่อน ถ้าถามว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจหรือไม่ ถ้าไม่รวมแล้วจะไปกระจายให้ใคร มันไม่มีช่องทางเพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ คนที่ปฏิบัติหน้าที่ตอนนี้คือระบบราชการทั้งหมด ก็ต้องใช้ระบบนี้มาบริหารประเทศก่อน" นายกสมาคมอบต.ฯ กล่าว
เมื่อถามว่า จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อท้องถิ่น นายนพดล กล่าวว่า ยังมองไม่ออก เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าที่ไหนยุบบ้าง ด้วยสาเหตุอะไร แล้วจำนวนเท่าไหร่ ค่อยมาวิเคราะห์กันใหม่ หากในอนาคตมีการยุบเพื่อเตรียมการบริหารท้องถิ่นใหม่ทั้งขบวนก็เป็นอีกเรื่อง เชื่อว่าผู้ออกคำสั่งคงมีเหตุผลของเขา แต่ข้อเท็จจริงมันชัดเจนหรือไม่ อาจมองไปคนละมุม เช่น มีตรงนี้ไว้เพื่ออะไร จะเตรียมบริหารบริหารท้องถิ่นรูปแบบใหม่ทั้งหมดมั้ย ยังไงก็ตามระบบตัวเเทนประชาชนต้องการจากการเลือกตั้งไปบริหารพื้นที่ เราต้องยอมรับในอำนาจของประชาชน ไม่ใช่ว่าให้คนกลุ่มหนึ่งพอใจจะทำอะไรก็ได้
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2559