ทีมวิจัยจากโรงพยาบาลเด็กเซนต์หลุยส์ ในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า การแสดงความรักและเอาใจใส่ต่อลูกในขณะที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ จะส่งผลให้สมองของเด็กสามารถพัฒนาโตกว่าเด็กที่ไม่ได้รับความรักมากถึง 2 เท่า ถือเป็นงานวิจัยครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าการอบรมเลี้ยงดูที่ดีมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อขนาดของสมองเด็ก
งานวิจัยดังกล่าวใช้วิธีการติดตามเด็กจำนวน 127 คน ตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน เรื่อยไปจนถึงวัยรุ่นตอนต้น โดยอาศัยการสแกนสมองเป็นระยะไปตลอดเวลา ทีมวิจัยวัดการเลี้ยงดูของผู้เป็นมารดาด้วยการสังเกตการณ์ใกล้ชิดและให้คะแนนภาพวิดีโอบันทึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก โดยในปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวผู้เป็นมารดาถูกขอให้ทำภารกิจให้แล้วเสร็จ ในเวลาเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ผู้เป็นลูกเปิดกล่องของขวัญที่ยั่วความสนใจมากกล่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมุติสำหรับสะท้อนเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่ลูกๆ มักเรียกร้องความสนใจยามที่ผู้เป็นแม่กำลังยุ่ง
พ่อแม่ที่สามารถรักษาความเยือกเย็นไว้ได้และทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จในขณะที่ยังคงปลอบโยนและกล่อมลูกอยู่ต่อไปจะได้รับคะแนนการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ดีกว่า
จากการตรวจสอบภาพสแกนสมอง ทีมวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่แม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ดีกว่า จะมีขนาดของสมองในส่วนฮิปโปแคมปัส สมองส่วนสำคัญที่ใช้ในการสร้างความทรงจำระยะยาว อารมณ์ และการกำหนดทิศทางเติบโตมากกว่าเด็กที่ผู้เป็นมารดาทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า
พญ.โจแอน ลูบี้ นักจิตวิทยาเด็กของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้เขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่าเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ แต่ถูกละเลย ขาดการเอาใจใส่ สมองก็จะไม่สามารถเติบโตจนไล่ทันแม้ว่าจะได้รับการเอาใจใส่อย่างดีหลังเกินวัย 6 ขวบมาแล้วก็ตาม
ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกก่อนวัยเรียน ถือว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของสมองดังกล่าว
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 พฤษภาคม 2559