ประชาพิจารณ์ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติใกล้ครบ 4 ภูมิภาค “กมล”ย้ำฟังเสียงสะท้อนของครู เร่งสรุปให้จบ หวังใช้ทัน 1 ต.ค.นี้ ส่อแววตัดประเด็นเปลี่ยนสถานภาพครูเป็นพนักงานราชการทิ้ง
วันนี้(3พ.ค.)ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.กำลังทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2574) ซึ่งเมื่อประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว จะมีการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้สมบูรณสอดคล้องกับความต้องการของครู โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการสรุปเสนอสภาการศึกษา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนน่าจะสามารถจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ได้ และนำไปได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 นี้
เลขาธิการสกศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการเรียนฟรีในแผนการศึกษาแห่งชาติจะไม่ระบุชัดว่าจะต้องเรียนฟรีกี่ปี ใครจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ แต่จะพูดในเชิงหลักการเท่านั้น ที่สำคัญจะพูดถึงภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราไปเน้นแต่เรื่องการรับการบริจาค แต่ขณะนี้เรามีรูปแบอื่น ๆ แล้ว ส่วนการจัดสรรงบฯจะจัดไปที่เด็กหรือที่โรงเรียนก็ต้องมีการพูดถึง โดยปัจจุบันจัดสรรไปที่โรงเรียน แต่อนาคตจะจัดสรรไปที่ตัวเด็ก เช่น คูปองการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกไปเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ เป็นต้น
“สำหรับประเด็นความห่วงใยในสถานะของครู ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยากให้ครูเป็นข้าราชการและอยู่ในระบบเหมือนเดิม สกศ.ได้รับทราบข้อห่วงใยนี้และพร้อมที่จะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่จุดมุ่งหมายเดิมของการกำหนดให้ครูเป็นพนักงานราชการหรือมีสถานะอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนทั่วไปหรือครูส่วนใหญ่ แต่จะเป็นโรงเรียนบางประเภท ซึ่งวันนี้ยังไม่มี เช่น โรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนที่สอนสาขาเฉพาะที่ต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจมีอัตราจ้าง หรือไปสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาและมีสถานะที่ไม่ใช่ข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากครูทุกคนสบายใจว่า เรายังใช้ระบบเดิมในการคัดเลือกครู รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารก็ยังใช้ระบบเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อครูมีความกังวลกันมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะตัดส่วนนี้ออกไป” ดร.กมลกล่าว
ที่มา เดลินิวส์ ว้นที่ 3 พฤษภาคม 2559