Advertisement
โดย นัฐวัฒน์ ดวงแก้ว
หมายเหตุ- พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนและทิศทางการบริหารในอนาคตของกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังดำรงตำแหน่งมากว่า 8 เดือน
การทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
8 เดือนที่เข้ามาทำงาน มีทั้งวิกฤตและโอกาส วิกฤตที่มองมีเรื่องเยอะที่ต้องแก้และสังคมให้ความสำคัญ เหมือนสังคมและคนทั่วไปกดดันเรื่องการศึกษาของชาติ ทำให้ผมยอมรับว่าหนักใจทีเดียว แต่ผมโชคดีที่มีทีมงานได้ให้ข้อมูล ทำให้ผมเรียนรู้ได้เร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงทำให้รู้สิ่งที่เราจะแก้อย่างเป็นระบบได้ โชคดี ด้วยที่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในระดับนโยบาย ศธ.ในช่วงต้น ทีแรกเราไม่รู้หรอกว่าระดับล่างจะให้ความร่วมมือหรือไม่ แต่ระดับบริหารให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งผมต้องพยายามให้ได้รับความร่วมมือโดยเฉพาะบุคลากรในระดับภูมิภาค สิ่งที่พยายามทำเพื่อให้ได้รับความร่วมมือ คือ ให้เขาเห็นว่าผมมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ไม่มีผลประโยชน์หรือวาระซ่อนเร้นใดๆ ต้องใช้เวลาสร้างสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพอใจในระดับหนึ่ง
ปัญหาของ ศธ. ต้องใช้อีก 10 ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และมี 6 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ เมื่อยิ่งอยู่ผมเริ่มมองเห็นว่าปัญหาหลักของ ศธ.ที่เป็นตัวต้นเหตุและลุกลามไปทุกเรื่อง คือ ปัญหาอยู่ที่การบริหารงานบุคคลของอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ซึ่งมี อ.ก.ค.ศ.ในเขตพื้นที่ไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดี ต้องการกระจายอำนาจ ต้องการให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมการศึกษาและรวมไปถึงงานบริหารงานบุคคลด้วย แต่ในระบบคนไทยและการกระจายอำนาจไม่พร้อม ทำให้บิดเบี้ยว ช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา ระบบนี้ ส่งผลถึงเด็กนักเรียน เพราะระบบนี้เลือกครู ประเมินผลงานครู การดึงครูจากห้องเรียนหรือได้ครูไม่ตรงก็มีส่วน อยู่นานกันไปหลายพื้นที่เกิดช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ พอสะสมเขตพื้นที่ไหนทำกันได้ที่อื่นก็ทำกันบ้าง ดังนั้น ขืนปล่อยไว้จะลามไปทั้งประเทศ ซึ่งใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ 225 เขต ไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่ปล่อยทิ้งไว้จะลามแน่นอนและส่งผลถึงเด็ก ระบบการบริหารงานบุคคลนำมาซึ่งทุกอย่าง ระบบงบประมาณด้วย ผมจึงต้องแก้ตัวนี้ให้ได้
หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 10/2559 และ 11/2559 ปรับโครงสร้างของภูมิภาค ผมได้อธิบายไปว่า ครูเราเห็นว่าต้องทำหลักสูตรการเรียนการสอน และทำมาตั้งแต่ต้น หลักสูตรปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ความรู้ครู โดยทำมาแล้วการขับเคลื่อนมันไปแต่เราเหนื่อยมากในการขับเคลื่อน แสดงว่าโครงสร้างมีปัญหา การบริหารงานคนมีปัญหาเราจึงแก้ตัวนั้น ผมเจอสิ่งเหล่านี้
การบริหารงานทหารกับการบริหารงานครูแตกต่างกันอย่างไร
วิธีการทำงานผมไม่ต่างกัน ไม่ว่าผมอยู่ตำแหน่งไหน วิธีการทำงานผมเหมือนเดิมทุกอย่าง เช่น 1.ต้องเป็นคนที่น้ำต้องไม่เต็มแก้ว คือ ต้องรับความคิดเห็นของคนอื่นและลูกน้อง โดยเฉพาะคนที่ทำงาน รับฟังด้วยเหตุด้วยผล 2.ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราทุกครั้ง 3.ผมทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมเป็นแบ๊กอัพ มีสต๊าฟ พนักงาน เจ้าหน้าที่ส่วนบุคคล ต้องไม่อาศัยหาผลประโยชน์ นี่คือเรื่องสำคัญ ใครอยู่กับผมแล้วหาผลประโยชน์จะเปลี่ยนทันที อย่างไรก็ตาม การทำงานช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความคล้ายทหารมากกว่า เพราะมีอาวุธ อยู่ป่า สั่งแบบทหารได้ แต่กับ ศธ.มีครู 4-5 แสนคน ถูกงานบริหารบุคคลแบบเดิมทำให้บิดเบี้ยว ถูกเอาใจมานานมาก การที่ผมจะไปหักล้างคงไม่ง่าย ผมต้องสร้างการยอมรับให้เห็นประโยชน์
ผมพบว่า ครูร้อยละ 90% ที่รักเด็ก รักนักเรียน อยากทำให้นักเรียนเรียนหนังสือเก่ง เด็กดี มีวินัย แต่ว่าสิ่งที่จะมาช่วยที่ผ่านมาไม่เป็นระบบ เมื่อผมเห็นแบบนี้ผมสบายใจว่าครูผมไม่ได้เลวร้าย ถ้าเราพาเขาไปและดูแลให้ดี มันไปได้ ทุกคนชอบพูดว่าการศึกษาต้องใช้เวลา ผมก็รู้ว่าต้องใช้เวลา แต่ผมไม่ชอบใช้เวลานาน ทำให้ผมต้องเหนื่อยขยับตัวเร็วที่สุด
8 เดือนกว่าที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีนโยบายที่วางไว้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
ผมพอใจในระดับหนึ่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่พอใจ ดังนั้น ต้องทำงานแบบสปีดให้นายกฯ ผมตั้งเป้าว่า 56 โครงการต้องเห็นหน้าเห็นหลัง จับต้องได้จริงๆ เดือนสิงหาคม 2560 วันนี้เดินงานมา 75% แล้ว เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ต้องขับเคลื่อน ถือได้ว่าผมพอใจ
คนคาดหวังเรื่องปฏิรูปการศึกษามาก ที่ผ่านมามี นโยบายออกมาหลายอย่าง เช่น ลดเวลาเรียน การเพิ่มสัดส่วนเรียนอาชีวศึกษา คิดว่ามาถูกทางหรือไม่ และมีนโยบายอะไรที่จะผลักดันเพิ่มเติมบ้าง
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตัวชี้วัดของผมอยู่ที่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง เขาแฮปปี้ ผมถือว่าเวิร์ก แค่ระยะเวลา 6 เดือนช่วงภาคเรียนที่ 2 ที่ผ่านมา พบว่าคะแนนโอเน็ตเราเพิ่ม อาจจะไม่เพิ่มทุกวิชา แต่ระดับปฐมศึกษา 5 วิชา เพิ่ม 4 ลด 1 มัธยมต้น เพิ่ม 3 ลด 2 ยังไม่นับที่เราต้องปรับข้อสอบ ดังนั้น ถือว่าพอใจ ส่วนเรื่องอาชีวศึกษาทวิภาคี เอกชนเป็นลูกค้าสำคัญเพราะเราต้องผลิตคนไปให้ ซึ่งเขาแฮปปี้มาก ยิ่งได้มาทำนโยบายประชารัฐยิ่งไปถูกทาง ผมถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว นอกจากนี้ มีคนพูดอยู่เสมอว่าเราจะยุบแท่ง ศธ. เรื่องนี้ ได้ชี้แจงต่อนายกฯว่า วันนี้ผมทำงานได้ในสภาพแท่งที่เป็นอยู่แบบนี้ ประสานงานการทำงาน
การจะปรับแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ก่อนหน้าผมมาได้เริ่มไปแล้วมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาขึ้นมา ผมต้องไปคุยกับท่านเพิ่มเติม ต้องมีการปรับ พ.ร.บ.การศึกษาแน่นอน ส่วนโครงจะปรับเป็นอย่างไรนั้นอีกเรื่อง แม้กระทั่งกรมวิชาการ เดิมเราจะรวบเอาสำนักวิชาการมาตั้งกรมวิชาการขึ้น แต่เกิดแนวความคิดใหม่จากสภาว่าจะจัดตั้งหน่วยงานอิสระเป็นกรมวิชาการนั้นก็เป็นข้อดี ทำให้เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ผมต้องเหนื่อยนิดหนึ่งในการเชื่อมโยงหลักสูตร แต่ก็ทำได้
การปรับโครงสร้างระดับภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการล่าสุดคนพูดกันมาก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
โครงสร้างเดิมเราพบปัญหาแล้ว ขาดการบูรณาการ 225 เขตพื้นที่เขาเป็นอิสระ ภาษาง่ายๆ ที่คนเขาชอบพูดกัน ไม่ใช่ผมพูดนะ คือ อาณาจักรใคร อาณาจักรมัน ปฐมศึกษาก็แยกกัน มัธยมศึกษาก็แยกกันไป อาชีวะในพื้นที่ฉันก็ไม่เกี่ยวกับคุณ ฉันอยากได้อาชีวะมาก มัธยมก็ไม่อยากให้ไปเรียนเพราะต้องการเพิ่มยอดไม่คุยกัน ส่วนอุดมศึกษายิ่งอิสระใหญ่เพราะมีกฎหมายตัวเอง การศึกษานอกระบบ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) การศึกษาพิเศษ ต่างคนต่างอยู่หมด ทั้งที่ต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เกิดช่องว่างของคนออกนอกระบบ เพราะต่างคนไม่สนใจซึ่งกันและกัน แต่พอเกิดการบูรณาการในจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นำทั้งหมดเข้ามาหากัน อย่างน้อยก็ไปในทิศทางเดียวกัน ท่านไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชาแต่ทำในนามของบอร์ด และที่คาดหวังมาก คือ เด็กที่ออกนอกระบบจะกลับเข้ามา
การเรียกหาผลประโยชน์ ปฏิเสธไม่ได้ ผมไม่อยากพูดตรงๆ แต่ไม่ได้เป็นทุกที่ อ.ก.ค.ศ. ดังนั้น หากปล่อยไว้จะลามไปทั่วประเทศ จะเรียกรับผลประโยชน์จากการบรรจุหรืออะไรก็แล้วแต่ อันใหม่จะอยู่ในรูปของบอร์ดจังหวัด แต่ก่อนนี้จะย้ายข้ามเขตจังหวัดไม่ได้ อันใหม่นี้ย้ายได้แต่ในทางปฏิบัติไม่ข้ามกัน การกำกับดูแล เลขาฯ สพฐ. และผมเองต้องไปไล่งาน 225 เขตพื้นที่ 440 อาชีวะ 140 มหาวิทยาลัย ดังนั้น ต้องมีใครสักคนมาช่วยเชื่อมให้กับเรา จริงอยู่เราเพิ่มสายการบังคับบัญชา มีศึกษาธิการภาคแทรกมาแต่ผมชั่งน้ำหนักแล้วว่า มาให้ช่วยกำกับดูแล และไล่บี้โดยมีตัวชี้วัดไปที่ศึกษาธิการภาค และวัดไปที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขตพื้นที่ชี้วัดไปที่ ผอ.เขตโรงเรียน ทุกคนมีตัวชี้วัดหมด ตัวชี้วัดตรงนี้ต้องเสร็จก่อนเปิดเทอมปีการศึกษา 2559 ทำให้การขับเคลื่อนการกำกับดูแลทำได้ดีขึ้นในรูปแบบใหม่
การปรับโครงสร้างใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะให้เหลือระดับ 1 แค่ตำแหน่งเดียวคือ ปลัดกระทรวง จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรือไม่
ต้องรอร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ยังไม่ได้คิดใช้ ม.44 เพราะผมชี้แจงนายกฯว่ายังทำงานได้ แต่บางคนต้องมีการปรับปรุง ผมต้องดูก่อนว่าปรับปรุงแล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่ทันจริงคงส่งให้รัฐบาลใหม่ เพราะเราต้องทำเรื่องเร่งด่วนก่อน นายกฯถามผมว่า เป็นอุปสรรคหรือไม่ ซึ่งอย่างเรื่องภูมิภาคผมบอกว่าเป็นอุปสรรค นายกฯจึงใช้ ม.44 แต่ในเรื่อง 5 แท่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ นาทีนี้ ผมยอมรับกับนายกฯว่าผมเหนื่อยมาก แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคถึงขั้นต้องใช้ ม.44 แต่ในอนาคตอีกเรื่องหนึ่ง
ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุจริตในกระทรวงศึกษา เช่น เรื่องการทุจริตในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าของ สกสค.
ถ้าดูปัญหาหลัก สกสค.กับองค์การค้าฯ จะมีเรื่องทุจริตที่เห็นกันอยู่คือ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด 2,100 ล้านบาท ของ "เสี่ยบิ๊ก" นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ก็ถูกจับไปแล้ว ในส่วนของทางราชการเองได้แจ้งความที่ สน.ดุสิต กับอดีตเลขาธิการ สกสค. และคนที่เกี่ยวข้อง 3 คน ผมเองพูดตรงๆ เริ่มจะหงุดหงิดเพราะเรื่องมันเยอะหันไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่าที่แจ้งความไว้ตำรวจเขาไปถึงไหนแล้ว ให้ไปตามคดีมาเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่ปีที่แล้วจนบัดนี้ยังไม่ออกหมายจับเลย เขาทำอะไรอยู่ ให้ทำหนังสือไปที่ สน.ดุสิตตามเรื่อง และได้พูดกับ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) ช่วยตามเรื่องให้หน่อยทำไมช้า ตำรวจติดขัดอะไรมีหลักฐานไม่พอให้มาถามผม
เรื่องนี้อย่าว่าแต่สังคมสงสัยเลย ผมก็สงสัยทำอะไรกันอยู่ เจ้าหน้าที่ทำไมไม่ถูกออกหมาย ถ้าไม่ถูกออกหมายตำรวจต้องมีเหตุผลและบอกผม และเรื่องนี้โยงไปที่ธนาคารธนชาต เพราะเป็นผู้อนุมัติให้ถอนเงิน ซึ่ง มุมมองธนาคารธนชาตกับเราไม่เหมือนกัน เพราะอนุมัติตามกฎหมายที่มีอยู่ถูกต้อง แต่เรามองว่าผิดกระบวนการและขั้นตอน ต่างคนต่างมองผมก็ต้องแจ้งความ ตอนนี้ทำเรื่องไปที่อัยการและจะดูให้ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องเอกชน ส่วนธนาคารธนชาตจะว่าอย่างไรก็ว่ามา
ส่วนเรื่องโครงการก่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ของ สกสค.ที่หยุดการก่อสร้างไป ผมมอบให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ขึ้นไปดูแลเรื่องนี้ ขณะที่เรื่อง สกสค.นำเงินไปซื้อหุ้นบริษัทหนองคายน่าอยู่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน บ้านป่าตอง ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย เรื่องนี้มีความคืบหน้าอยากให้รออีกนิด เพราะจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่ออนุมัติแนวทางกับบริษัทหนองคายน่าอยู่ หลังจากนั้นถึงจะบอกแนวทางได้ชัดเจน ทุกอย่างมีความคืบหน้าหมด
ล่าสุดมาเจอชุดนักเรียนอีก ทราบตัวเลขว่ากองอยู่ในคลัง 590,000 ชิ้น เราได้คัดของดีออกมา 460,000 ชิ้น มีคณะกรรมการมาหารือกัน และมีมตินำมาขายในราคาถูกให้ประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ 1.ได้ตั้งกรรมการสอบว่าการอนุมัติแต่ละปีมีใครเกี่ยวข้องบ้าง การอนุมัติถูกต้องหรือไม่ 2.ได้ทำเรื่องถึงศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้ามาตรวจอีกชั้น เราไม่ได้พบแค่ชุดนักเรียน เราพบอีกหลายอย่าง ก็ฝากเรียนอดีตผู้บริหารองค์การค้าฯแล้วกันว่า ให้ท่านรอผลการตรวจสอบ ถ้าทำโดยสุจริตใจก็ไม่ต้องกังวล ผมไม่แกล้งใคร เหมือนกับล่าสุดมีมติปลดนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็ว่าไปตามเนื้อผ้าทั้งหมด เพราะผมไม่รู้จักใครเป็นพิเศษ
ดังนั้น ถ้าท่านทำดีก็ไม่ต้องกังวลไม่มีการ กลั่นแกล้ง
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 2559 (กรอบบ่าย)
Advertisement
เปิดอ่าน 9,011 ครั้ง เปิดอ่าน 15,355 ครั้ง เปิดอ่าน 56,070 ครั้ง เปิดอ่าน 10,519 ครั้ง เปิดอ่าน 14,329 ครั้ง เปิดอ่าน 9,034 ครั้ง เปิดอ่าน 8,205 ครั้ง เปิดอ่าน 7,809 ครั้ง เปิดอ่าน 8,434 ครั้ง เปิดอ่าน 11,743 ครั้ง เปิดอ่าน 14,518 ครั้ง เปิดอ่าน 64,190 ครั้ง เปิดอ่าน 16,889 ครั้ง เปิดอ่าน 15,325 ครั้ง เปิดอ่าน 7,585 ครั้ง เปิดอ่าน 11,981 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 10,950 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,535 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 31,871 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,084 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,245 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,155 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,210 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 52,959 ครั้ง |
เปิดอ่าน 2,460 ครั้ง |
เปิดอ่าน 160,554 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,072 ครั้ง |
เปิดอ่าน 41,794 ครั้ง |
|
|