“ดาว์พงษ์”แจงเงินเพิ่ม 4% ตามการปรับเงินเดือนข้าราชการ คือ เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ไม่ใช่เพิ่มเงินเดือนครูเอกชน ย้ำหน้าที่ปรับเงินเดือนครูเป็นของโรงเรียน
วันนี้(2 พ.ค.)พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)การเสนอเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน4% ว่า เรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะสิ่งที่ ศธ.พิจารณาคือ เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ 4% ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2557 นั้น ตนได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงบประมาณแล้ว เห็นชอบให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่26 มิถุนายน 2550 ที่ให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูในอัตราเดียวกันทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ดังนั้นโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรี15 ปี อยู่แล้ว จะได้ปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอีก 4%เท่ากับอัตราเพิ่มเงินเดือนข้าราชการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่าสำหรับตัวเลขเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่จะปรับเพิ่มเป็นดังนี้ ระดับอนุบาลและประถมศึกษาเพิ่ม 264 บาทต่อคนต่อปี มัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) เพิ่ม 330 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งครอบคลุมนักเรียนเอกชนสังกัดสช.และ สอศ. 2,279,076 คน โดยใช้งบฯปีละ646.8 ล้านบาท ซึ่งจะตั้งงบฯตั้งแต่ปีงบฯ 2560 เป็นต้นไป สำหรับส่วนที่ย้อนหลังระหว่างเดือนธันวาคม2557 – กันยายน 2559 จำนวน 1,186 ล้านบาทนั้น มอบให้ สช.และ สอศ.ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2559 และเสนอของบกลางไปยังสำนักงบประมาณเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
“การเพิ่มเงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้ครูเนื่องจากหน้าที่การจ่ายเงินเดือนครูเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเอกชน เมื่อโรงเรียนได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนก็จะนำไปปรับเงินเดือนครูเองซึ่งในทางปฏิบัติต้องยืดหยุ่นตามสภาพการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนด้วยเช่น บางโรงเรียนมีนักเรียนไม่มาก เงินอุดหนุนที่ได้เพิ่มอาจเพิ่มเงินเดือนให้ครูได้ไม่ถึง4% โดยที่ผ่านมาบางโรงเรียนก็ได้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ครูไปตามช่วงเวลาปกติอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนอาจนำเงินอุดหนุนส่วนนี้ไปใช้พัฒนาคุณภาพด้านอื่นแทนก็ได้แต่สิ่งสำคัญคือตามระเบียบว่าด้วยการอุดหนุนกำหนดให้ครูจะต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าวุฒิที่ทางราชการกำหนดทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2558 มีครูเอกชนทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษามีทั้งสิ้น171,620คน”รมว.ศธ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียนทั้งของรัฐและเอกชนเพราะการที่โรงเรียนเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลดังนั้นทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่โรงเรียนเอกชนมาโดยตลอดโดยก่อนการปรับเงินอุดหนุนครั้งนี้รัฐได้ให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามโครงการเรียนฟรี 15ปีสำหรับโรงเรียนเอกชนอยู่แล้วปีละประมาณ 26,000ล้านบาท
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2559