นักวิชาการจี้ ศธ.ออกนโยบายเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม วอน ทปอ.อย่าทำวิจัยซ้ำ เพื่อมายันมติตัวเอง ขอให้คำนึงผลกระทบต่อเด็กเป็นสำคัญ
วันนี้ ( 2 พ.ค.) ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวถึงมติของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ล่าสุดยังคงยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียนตามประเทศในอาเซียน ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และควรที่จะมีนโยบายให้กลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามช่วงเวลาเดิม เนื่องจากนักศึกษา นิสิต และผู้ปกครองได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกันมากรวมถึงสถาบันผลิตครูที่ไม่สามารถฝึกฝนทักษะวิชาชีพครูให้แก่นิสิต นักศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ตรงกัน
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้หลายฝ่ายได้เสนอทปอ.ให้ทบทวนมติการเปิด-ปิดภาคเรียน และให้กลับไปใช้ระบบเดิม โดยมีการอ้างอิงผลงานวิจัยที่แสดงถึงผลกระทบต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับนิสิต นักศึกษา รวมถึงวิชาชีพต่างๆ ดังนั้น ทปอ.ควรนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะใกล้จะเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ของปีการศึกษา 2559 ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่างานวิจัยส่วนใหญ่ของกลุ่มที่หนุนให้กลับไปเปิด-ปิดแบบเดิมนั้นไม่น่าเชื่อถือ ในฐานะที่ตนเป็นคนหนึ่งที่เป็นนักวิจัยและทำวิจัยมาตลอด ชี้แจงว่าผลวิจัยที่มีการเสนอนั้นสามารถนำมาใช้ เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วว่าเกิดขึ้นอย่างไรมีสาเหตุมาจากอะไรและทำไมจึงเป็นเช่นนั้นในเชิงเหตุและผลแล้ว ที่สำคัญเกิดผลกระทบเชิงประจักษ์อยู่แล้ว ดังนั้นทปอ.ไม่จำเป็นต้องไปทำงานวิจัยซ้ำ
“หาก ทปอ.ยืนยันที่ทำวิจัย น่าจะเป็นประเด็นการค้นหาความรู้อย่างมีระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย หรือ สิ่งที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยอาจจะเก็บข้อมูลบางอย่างที่ยังไม่รอบด้านแต่ถ้า ทปอ.ต้องการทำงานวิจัยซ้ำ เพียงเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ เพื่อยืนมติที่จะไม่ยอมกลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนแบบเดิมนั้นไม่ถูกต้อง และอยากให้คำนึงถึงนิสิต นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบในเชิงปริมาณและคุณภาพดีกว่า ” ผศ.ดร.พัทธนันท์กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2559