รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้เงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรอุดหนุนทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนอย่างทั่วถึง เพราะโรงเรียนเอกชนมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการนำคูปองการศึกษามาใช้นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. มอบหมายให้ตนศึกษารายละเอียดข้างต้น เพื่อให้เด็กถือคูปองไปเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการเรียนได้เอง
แนวทางนี้จะกระตุ้นให้โรงเรียนรัฐและเอกชนแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพให้เข้าตาเด็กและผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม หากจะนำแนวทางนี้มาใช้จริงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องเริ่มในปีการศึกษา 2560 เนื่องจากต้องใช้งบประมาณปีงบฯ 2561 ดำเนินการ
รศ.นพ.กำจรกล่าวต่อว่า งบฯ ที่จะนำมาใช้ในการจัดคูปองการศึกษานั้น ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปคำนวณเงินอุดหนุนที่โรงเรียนควรได้รับผ่านคูปองการศึกษาว่าควรมีอัตราเท่าไร ขณะเดียวกันจะดูงบฯ เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาทั้งหมดของศธ. ทั้งส่วนที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสช. เพื่อมาคำนวณว่านำมาเกลี่ยและจัดสรรเป็นคูปองการศึกษาให้แก่นักเรียนได้ในอัตราเท่าไรด้วย อาทิ คูปองการศึกษา ให้นักเรียนในโรงเรียนสพฐ. ประมาณ 1,900 บาทต่อคน ส่วนนักเรียนโรงเรียนเอกชนได้รับประมาณ 2,900 บาทต่อคน เพราะต้องรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ด้วย
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 ที่ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ได้หมายความว่าการอุดหนุนการศึกษาในระดับม.ปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะหายไป เพราะนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพยังคงมีอยู่ และรัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีการเปลี่ยน แปลงนโยบายแต่อย่างใด ฉะนั้นการอุดหนุนการศึกษาจึงคงอยู่เช่นเดิม
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2559