ฝ่ากำแพงเมืองจีน
ว่าด้วยการเรียนและการสอบ
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชีวิตเด็กจีน ในวันสอบนั้นกำหนดพร้อมกันทั่วประเทศ และบรรดาคนในประเทศก็จะงดการใช้เสียง หลีกเลี่ยงการจราจรในระหว่างวันนั้น
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กมัธยมไทย ที่ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมากจนผู้ใหญ่ในรุ่นปัจจุบันแทบจะตามไม่ทัน การสอบในปัจจุบันที่เด็กนักเรียนจะไล่สอบกันหลายรอบหลายแห่งตลอดทั้งปี ต่างกับคนรุ่นเก่าๆ ที่ปีหนึ่งมีสอบเพียงครั้งเดียวรอบเดียว วัดดวงวัดความสามารถกันไปเลย ถ้าได้ก็ดี ไม่ได้รอใหม่อีกปี ซึ่งในแง่ความจริงที่ปรากฏก็คือ “ความเท่าเทียม” กันระหว่างคนรวยคนจน แต่แบบใหม่นี้คนรวยคงได้เปรียบในทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะสามารถสอบกวาดไปทั่วทุกโครงการ ทุกคณะ ทุกสถาบัน ประกอบกับในปัจจุบันที่มีการศึกษาด้วยภาษาต่างประเทศที่มีค่าเล่าเรียนที่สูงมาก ตั้งแต่คณะแพทย์ศาสตร์ บัญชี เศรษฐศาสตร์ จนคณะอักษรศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่แข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายนั้น ที่ไม่ใช่แบบของไทย แต่ยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เฉพาะในจีนนั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชีวิตเด็กจีน ในวันสอบนั้นกำหนดพร้อมกันทั่วประเทศ และบรรดาคนในประเทศก็จะงดการใช้เสียง หลีกเลี่ยงการจราจรในระหว่างวันนั้น เพื่อช่วยสนับสนุนการสอบของเด็กให้ผ่านไปอย่างราบรื่น
ในช่วงเวลาที่นักเรียนมัธยมปลายในจีน เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบมักจะเกิดภาวะเครียดมาก จนในบางครั้งที่มีข่าวออกมาว่า มีเด็กลุกขึ้นมากระโดดตึกฆ่าตัวตายต่อหน้าเพื่อนทั้งห้องที่กำลังตั้งใจจดจ่อกับการอ่านหนังสือ เด็กจีนแทบทุกคนจะได้รับความกดดันและการแข่งขันที่สูงอย่างมากในการเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย
จึงแทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมคนจีนจึงเป็นคนที่เก่ง เมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การทำธุรกิจการค้า ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นคือ “ความขยัน” นอกเหนือไปจากความขยันแล้ว คนจีนยังเป็นคนที่มีทั้งความมุ่งมั่น ความอดทนและมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมาตลอดทั้งชีวิต และก็ไม่น่าแปลกว่าสังคมจีนนั้นเป็นสังคมที่มีความเครียดและความกดดันสูงมากแห่งหนึ่งในโลก
กล่าวเฉพาะในเรื่องของการศึกษาแล้วนั้น ประเทศจีนมีความเข้มข้นในเกณฑ์การรับสมัครตั้งแต่เด็ก เช่น เด็กที่สอบเข้าประถมหนึ่งจะต้องทำข้อสอบทั้งหมดถึง 200 ข้อ ภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ตั้งแต่เด็กเล็กต้องถูกพาไปเข้าคอร์สติวกันอย่างหนัก โดยจะต้องเรียนพิเศษมากมายไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ศิลปะ เปียโน และกีฬา ด้วยวัยอนุบาลเท่านั้น เพื่อจะได้สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนประถมที่ดีได้ และโรงเรียนประถมแทบทุกแห่ง นักเรียนระดับประถมจะมีการบ้านจำนวนมากมาย โดยเฉพาะในระดับประถมปลายที่จะต้องทำการบ้านจนเกือบถึงเที่ยงคืนทุกวันและต้องเรียนพิเศษต่อทั้งวันเสาร์และอาทิตย์
และเมื่อจบประถมศึกษาแล้ว แม้ว่าโรงเรียนนั้นจะมีการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา แต่เด็กทั้งหมดก็จะต้องมาแข่งกันใหม่หมด เพื่อจะสอบเข้าเรียนต่อในระดับมัธยม ดังนั้นเด็กจีนจึงต้องอยู่ในภาวะตื่นตัวและขยันตั้งใจเรียนตลอด
เมื่อเรียนในระดับมัธยมก็จะมีความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการแข่งขันก็รุนแรงเพิ่มขึ้น การบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่การสิ้นสุดของการแข่งขัน แต่กลับเริ่มต้นแข่งกันต่ออีก
ในมหาวิทยาลัยที่จีนนั้น เราสามารถแยกได้ง่ายมาก ระหว่างนักศึกษาจีนและนักศึกษาต่างชาติ ทั้งนี้เพราะนักศึกษาจีนจะขยันมากๆๆกว่านักศึกษาต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ว่านักศึกษาต่างชาติไม่ขยัน เพราะในมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนนั้นการเรียนการสอนเป็นไปแบบเข้มข้นมาก เรียกได้ว่าระหว่างทางมีคนทั้งลาออกหรือถูกไล่ออกกันได้ตลอดเวลา หากแต่นักศึกษาจีนนั้นมีความมุ่งมั่นในการเรียนสูงมาก ทั้งนี้จะมีนักศึกษาจีนที่เรียนควบแบบ 2 ปริญญาจำนวนมากคือ ในขณะที่ตนเรียนคณะหนึ่งก็อาจจะไปลงเรียนอีกคณะหนึ่งพร้อมกัน เช่น เรียนวิชาเอกภาษาไทย และก็เรียนบริหารธุรกิจพร้อมกันไปด้วย จึงทำให้เมื่อจบการศึกษา นักศึกษาเหล่านี้จะมีความสามารถในการทำงานมากกว่า และน่าจะหางานได้ง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริงที่โหดร้ายของสังคมจีน การหางานไม่ใช่ง่ายดายเช่นนั้น โดยเฉพาะตำแหน่งข้ารัฐการจีน มักจะมีคนมาสมัครเข้าแข่งกันสอบหลายพันคนสำหรับตำแหน่งที่รับเพียงตำแหน่งเดียว
นั่นจึงเป็นที่มาว่า “ทำไมคนจีนจึงเก่ง” และเป็นที่มาของการเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศที่แสนสบายเช่นประเทศไทย ยิ่งเมื่อเราเปิดกว้างเป็นประชาคมเดียวกัน พี่น้องจีนคงหลั่งไหลมาทำงานกันมหาศาล เผลอๆ คนไทยอาจจะต้องนั่งเฝ้าบ้านแทนการทำงาน เพราะถูกแย่งงานหมด งานในระดับที่ใช้แรงงานถูกเพื่อนบ้านรับทำหมด งานในระดับนั่งโต๊ะถูกคนจีนรับทำแทน คิดแบบไทย “สบายไปคนไทยที่มีคนช่วยทำงาน” หรือว่าในที่สุดแล้ว คนไทยควรจะช่วยหาทางสงวนอาชีพบางอาชีพให้คนไทยก่อนหรือไม่
................................
คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน
โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี”
ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559