วันนี้ (29 เม.ย.2559) ผมได้รับข้อความจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ที่ไม่ใช่ครู แต่เป็นผู้ที่คลุกคลีกับวงการครูในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ ท่านหนึ่ง ได้กรุณาส่งข้อเขียนที่ผมได้อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากจะได้แชร์ให้คุณครูทุกท่านได้อ่านกัน ลองอ่านดูนะครับว่า แนวโน้มอะไรบ้างที่น่าสนใจ สิ่งใดที่เราควรมองและปรับเปลี่ยนกันบ้าง ครับ
ออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในวงการศึกษาอะไรเลยนะครับ สิ่งที่ใกล้ชิดกับครูที่สุดคือการได้เรียนกับครู แล้วก็พยายามจีบครู LOL
เค้าบอกกันว่าประเทศเล็กจะยิ่งใหญ่ได้ด้วยการศึกษา จะรวยได้ด้วย innovation เป็นที่แน่ชัดว่า ประเทศจะพัฒนาได้ การศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
ลองดูสิงค์โปร์เพื่อนบ้านเราก็ได้ครับ กว่าสิงค์โปร์จะมาถึงตรงจุดนี้ได้ จากประเทศที่มีคนขาดระเบียบวินัย
เค้าพัฒนาเรื่องวินัยอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการศึกษา ลองดูตอนนี้สิครับ เค้าเป็นอย่างไร เราเป็นอย่างไหน
เรายังเสมอต้นเสมอปลายไม่มีเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นข้อดีของเราหรือไม่ เค้าติดอันดับสองการศึกษาโลก เราติดอันดับ 8 ของ AEC
แต่ไหนแต่ไรครูเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งมันแน่นอนมันก็มีทั้งถูกและผิด
สมัยก่อนตอนผมเรียนเมื่อ 30 ปีที่แล้วและก่อนหน้านั้น ความรู้จะอยู่ที่ครูสอนอะไรเราเท่านั้นเป็นหลัก มีอะไรก็เชื่อครูนี่ล่ะ จำผิดๆมาก็เยอะ ...
แต่ตอนนี้ด้วยความที่เทคโนโลยีเจริญไปมาก พฤติกรรมคน ครอบครัว สังคม โลกเปลี่ยนแปลงไป
คนสามารถหาสิ่งที่อยากรู้ง่ายแค่กระดิกนิ้วบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ไม่กี่ทีเท่านั้น แต่ยังคงเหมือนเดิมคือมีทั้งถูกและผิด
ในเมื่อโลกยุคใหม่มาถึง ระบบ ครูเขียนนักเรียนจด หรือ ท่องเป็นคำเพื่อนำไปสอบ มันน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว
บทบาทครูในยุคนี้ควรจะเป็นผู้ทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระ และคอยชี้แนะในสิ่งที่ถูกต้อง ความรู้เค้าหากันได้เองครับ
พอเราคิดกันอย่างนั้น เราก็พยายามพูดกันถึง Education 3.0 หรือ 4.0 กันมา แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้มันต้องมีอะไรบ้าง
มันดูเหมือนว่าเราอยากเป็นแบบนั้น แต่เราไม่อยากทำจนไปถึงตรงนั้นได้อย่างจริงจัง
ความพร้อมของครู อุปกรณ์ต่างๆ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ความเข้าใจการสอนสมัยใหม่ พวกนี้มีไว้ให้ครูกันหรือยัง หรือหน้าที่ครูต้องไปหามาด้วย ?
ที่สำคัญจะทำไปทำไมในเมื่อหลักสูตร รูปแบบการสอน การประเมินการสอนมันยังคงเหมือนเดิมเช่น 0 ตก 4 ดีมาก
ตอนนี้เราวัดครูเก่งกันอย่างไร อะไรคือข้อบ่งชี้ว่าครูคนไหนเก่ง ในเมื่อลูกศิษย์ส่วนใหญ่เรียนพิเศษจนสอบได้เป็นส่วนใหญ่ ?
โรงเรียนนึงมีทั้งสอบ Onet ได้ 100 เต็ม กับ ไม่ผ่านการประเมินหรือ 0 ก็มี ปัญหามันอยู่ที่ไหนกันแน่
คำถามคือ เราไม่รู้จริงๆหรือว่าปัญหาของการศึกษาไทยมันอยู่ที่ตรงไหน ? ลองพิมพ์ดูใน google พบว่ามีงานวิจัยของคนไทยมากมาย ประเทศนั้นเป็นแบบนี้
ประเทศนี้เป็นแบบนั้น ปัญหาของฉันคืออะไร แล้วมันก็แค่เอาไว้อ่าน เอาไว้อ้างอิง เอาได้อ่านให้ร่วมกันรัดทดใจอย่างมีความสุขกันแบบเดิม ไม่เห็นได้แก้อะไร
วันดีคืนดีก็ระบุว่าปัญหาการศึกษามันมาจาก ครูหนี้เยอะกระทบการเรียนการสอน ครูกู้เกินตัว ทำอาชีพเสริมอะไรแบบนี้ ครูนะครับไม่ใช่แพะ แหม่ ...
จำนวนครูที่มีปัญหาเป็นสัดส่วนกี่ % ครู 400,000 คนที่สอนอยู่ในปัจจุบันมีปัญหานี้กันทุกคนเลยหรือ ?
ทราบไหมครับว่าโรงเรียนในไทยที่มีเกือบ 35,000โรงเรียนนั้น มีโรงเรียนขนาดเล็กกี่โรงเรียน มีโรงเรียนที่ป.1 มีนักเรียนแค่ 1 คนอยู่กี่โรงเรียน
แล้วปัญหาตรงนี้มันเป็นปัญหาของใครกัน ?
เปลี่ยนวิธีคิดซะใหม่ดีไหม ผมเชื่อเรามีคนเก่งอยู่ในระบบ อยู่ในกระทรวงมากมาย แต่คนเก่งเหล่านั้นไม่มีเวทีหรือโอกาสให้แสดงออกเพราะมีอะไรมากดไว้
เปลี่ยนกฏ เปลี่ยนวิธีการคิด การประเมิน ให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้แสดงฝีมือออกมาน่าจะเห็นอะไรมากกว่าเดิม รวมไปถึงการประเมินครู การขึ้นเงินเดือนด้วย
ครูท่านมีหน้าที่ต่อเด็กคือสอนเด็กให้เก่งและดี หน้าที่ต่อตนเองคือพัฒนาตัวเองให้มีความรู้เท่าทันโลกอยู่เสมอ อะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ครู อย่าไปยัดให้ทำเลย
ไปแก้ระบบให้ดีก่อน พอระบบดีมีคุณภาพ ระบบมันจะคัดกรองคนให้ต้องดีมีคุณภาพตามไปด้วยเอง
ผมยกตัวอย่างอีกอัน ผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานราชการ อย่างเลขาธิการ / ปลัดกระทรวง ล้วนแต่เป็นผู้อาวุโสวัยใกล้เกษียณด้วยกันทั้งนั้น
แน่นอนสิ่งที่พวกท่านมีคือความรู้ ความสามารถ บารมี แต่สิ่งที่ขาดไปคือพลังงานที่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา
ลองคิดดูสิ อีก 1-2 ปีท่านจะเกษียณ ท่านจะทำงานเต็มที่ตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับหน่วยงาน ในเมื่อท่านอยู่จุดสูงสุดแล้ว บางท่านอาจทำ บางท่านอาจไม่
ผมเชื่อว่าช่วงเวลาคนที่ยังมีพลังทำงานและอยากสร้างสรรค์ผลงาน 30-50 น่าจะเป็นช่วงที่ทำได้เต็มที่
ด้วยระบบที่เชื่องช้า ทำคนที่ทำงานพาลอุ้ยอ้ายไปด้วย เราปักหลักยืนนิ่งงงอย่างมั่นคง ก้าวไปข้างหน้าก้าวนึง และถอยกลับมาสองก้าวตั้งหลักเสมอ
ทำไมเราไม่มีปลัดกระทรวง หรือ เลขาธิการอายุ 40-45 กันบ้างล่ะครับ ท่านที่เกินกว่านั้นก็ไปเป็นที่ปรึกษา หรือ บอร์ดอะไรพวกนี้ไปมันน่าจะดีกว่าไหม ?
แค่ไอเดียนะครับ มันน่าจะต้องมีวิธีสิน่า บริษัทเอกชนใหญ่ๆเค้ายังทำกันได้นี่นา