ส.ค.ศ.ท. เผยตัวเลขนักศึกษาครูในรอบ 5 ปี มีกว่า 2 แสนคน ขณะที่ความต้องการมีเพียง 1 แสนคน แนะสถาบันฝ่ายผลิตรับนักศึกษาปีเว้นปี พร้อมจี้ ศธ.ทำข้อมูลความต้องการรายวิชาใช้วางแผนรับนักศึกษาปี 2560
วันนี้ (25 เม.ย.) ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ส.ค.ศ.ท. ได้ทำการสำรวจจำนวนผู้ที่เข้าเรียนต่อคณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ในปี 2554-2558 ของสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ 80 แห่ง พบว่า มีผู้เข้าเรียนทั้งสิ้น 206,037 คน โดยสาขาวิชาที่มีผู้เรียนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ 21,331 คน การศึกษาปฐมวัย 21,054 คน สังคมศึกษา 21,000 คน พลศึกษาและสุขศึกษา 20,877 คน ภาษาไทย 19,149 คน คณิตศาสตร์ 18,982 คน วิทยาศาสตร์ 16,357 คน คอมพิวเตอร์ 12,620 คน การประถมศึกษา 8,481 คน และดนตรี 4,963 คน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวมี 5 สถาบันที่ขาดข้อมูลปี 2558 คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และอีก 10 สถาบันไม่มีข้อมูล ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้เรียนไม่ต่ำกว่า 10,000 คนเช่นกัน
“ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีมีผู้เรียนครูไม่ต่ำกว่า 230,000 คน ขณะที่ความต้องการครูใน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 คนเท่านั้น ประกอบกับการที่เปิดโอกาสให้บัณฑิตสาขาอื่นมาเป็นครูได้ด้วยนั้น ก็ยิ่งทำให้ล้นความต้องการมากขึ้นไปอีก ผมจึงเห็นว่าเวลานี้สถาบันฝ่ายผลิตครูควรงด ลด คงจำนวน หรือเปิดรับนักศึกษาปีเว้นปี และเปิดเพียง 1 หมู่เรียน จำนวน 30 คน ในสาขาวิชาที่มีผู้เรียนมากที่สุด 1-8 อันดับแรก และเพิ่มจำนวนรับในสาขาวิชาที่มีผู้เรียนเพียงหลักสิบ หรือหลักร้อย นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานผู้ใช้ครูควรจัดทำข้อมูลความต้องการเชิงปริมาณรายสาขาวิชาล่วงหน้าในปี 2564 เพื่อกำหนดแผนการผลิตรับนักศึกษาในปี 2560 หากทำได้จะช่วยให้สถาบันฝ่ายผลิตวางแผนการรับนักศึกษาได้ถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาบัณฑิตครูล้นในบางสาขาวิชา และขาดในบางสาขาวิชาด้วย” ผศ.ดร.สุรวาท กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2559