รมช.ศึกษาธิการ แจ้ง ทปอ.หลังจากนี้ ก.พ.จะดูแค่หลักสูตรผ่านการรับรองจากสภามหา’ลัยหรือไม่ ชี้หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด สภามหา’ลัยต้องรับผิดชอบ ขณะที่ ก.พ.เล็งคัดคนเข้ารับราชการ เน้นความสามารถมากกว่าใบปริญญา
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับทราบผลการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างระบบและมาตรฐานการสรรหาทรัพยากรบุคคล จะไม่สอบถามมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้วว่าหลักสูตรที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษามา สกอ.รับทราบหรือไม่ จะดูแค่เพียงว่าหลักสูตรนั้นผ่านการรับรองจากสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหรือไม่ แต่ทั้งนี้หากพบว่ามหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรโดยไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่ สกอ. กำหนด ทางสภามหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“สภามหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นพนักงานของรัฐ ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนั้นผู้เรียนยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่งกับทางมหาวิทยาลัยได้ และหากเกิดผลกระทบกับเด็ก มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ หาที่เรียนใหม่ให้แก่นักศึกษา นอกจากนี้ยังได้แจ้งที่ประชุมด้วยว่า อ.ก.พ.วิสามัญฯ ยังมีมติเสนอให้คณะกรรมการ ก.พ. พิจารณารับบุคคลเข้ารับราชการ โดยต่อไปจะเน้นดูความสามารถมากกว่าปริญญาบัตร ซึ่งเป็นทิศทางที่จะช่วยลดค่านิยม ที่ยึดติดกับปริญญาบัตร หรือบ้าปริญญาของสังคมไทย ศึกษา เช่น หาก ก.พ.ต้องการตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ก็จะทดสอบความสามารถ ซึ่งผู้จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ถ้ามีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ มากกว่า ผู้จบปริญญาตรี ก็จะได้รับการบรรจุ แต่หากมีความสามารถเท่ากัน ก็เลือกรับผู้ที่จบปริญญาตรี ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 24 เมษายน 2559