การศึกษาไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณธรรมของนักเรียนมานานแล้ว เพราะกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมที่เน้น“การสอนสั่ง”หรือ“ป้อนความรู้”เพียงอย่างเดียว วันนี้ ผศ.ดร.โกวิทย์ พิมพวง คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มองว่าการศึกษาไทยควรเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้ว อยากให้ย้อนกลับไปคิดถึงคำเก่าๆแต่ยังใช้ได้ดีที่ว่าคุณธรรมนำความรู้ ลองไปดูกัน
ปัจจุบันวงการศึกษาไทยร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) โดยมีคำสั่งเรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” อันจะมีผลกับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา และคาดว่าคงอีกไม่นาน “หวย” คงมาออกที่การศึกษาระดับสูงด้วยเช่นกัน เพราะต่างก็มีความร้อนแรงไม่แพ้การศึกษาระดับล่าง ในฐานะสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเดียวกัน เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปัญหาการศึกษาไทยโดยตรงโดยแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้ 2 เรื่องคือเรื่อง คุณภาพ (Quality) และ คุณธรรม (Morality)
ปัญหาดังกล่าวนับเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานและรอคอยการสะสาง จนเวลาสุกงอมช่วงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติพอดี ในวงการศึกษาไทยเคยปฏิรูปการศึกษาแล้วหลายครั้ง ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) โดยเฉพาะนักเรียน เรียกว่า “สอบตก” โดยถ้าเรามอง “คุณภาพ” การศึกษา นักเรียนมีผลการเรียนในระดับต่ำลงเรื่อยๆ แทบจะรั้งท้ายในอาเซียนเสียด้วยซ้ำ คุณภาพการศึกษาที่เด็กได้รับนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าระดับการเรียนรู้ของนักเรียนไทยในวิชาหลัก “ลดต่ำลง” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติอยู่ในระดับที่น่ากังวล คะแนนเฉลี่ยของนักเรียน (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 6) ในวิชาหลักๆ อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50
ถ้ามองในแง่ “คุณธรรม” การศึกษาไทยได้เผชิญกับปัญหาเรื่องคุณธรรมของนักเรียนมานานแล้ว สาเหตุเกิดจากกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมที่เน้น “การสอนสั่ง” หรือ “ป้อนความรู้” เพียงอย่างเดียว ไม่เน้นการศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดนิสัยในการแสวงหาความรู้ ข้อนี้จึงดูห่างไกลจากความเป็นจริงในปัจจุบันและเป็นปัญหามากเพราะนักเรียนที่ผ่านระบบการศึกษาดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาด้านคุณธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นความเสื่อมถอยด้านคุณธรรมของนักเรียนในฐานะที่เป็นเด็กและเยาวชนอันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติเป็นอย่างดี
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้อง “เลือกข้างการศึกษา” เลือกปฏิรูปในสิ่งที่เหมาะกับบริบทการศึกษาไทย ถ้าท่านเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา ท่านจะเลือกอย่างไหนระหว่าง “คุณภาพแบบสุดซอย” หรือ “คุณธรรมแบบสุดติ่ง” แต่อย่าลืมสำนวนไทยที่ว่า “จับปลาสองมือ” (จะไม่ได้อะไรเลย) ยังคงใช้ได้แม้อยู่ในยุคดิจิทัล (Digital) ปัจจุบัน
ปัญหานี้น่าคิด แต่ความจริงก็ไม่น่าคิดอะไร ถ้าประเทศไทยย้อนดูตัวเองแล้วสำนึกว่าตนเป็น “บ้านพุทธเมืองพุทธ” เหมือนที่ฝรั่งเขารู้กัน แต่นี่เป็นเมืองไทยเลยทำให้ต้องคิด คิดเพราะที่ผ่านมาคนไทยชอบทำอะไรที่เอาง่ายเข้าไว้ อาจเป็นนิสัยของคนไทยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการศึกษา วันนี้จึงเดินมาติดกับดักการศึกษาที่ตนได้ทำไว้ ในวงการการศึกษาไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษามาโดยตลอด แก้กันไปแก้กันมา จนทุกวันนี้แทบจะหาคุณภาพไม่เจอแล้ว ยิ่งเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ปัจจุบันนี้ อะไรนิดอะไรหน่อย ก็ต้องเรียกหา “ธรรมาภิบาล” โดยเฉพาะยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำลังอยู่ในช่วง “สร้างบ้านแปงเมือง” ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนี้ จะเน้นการสร้างชาติโดยสร้างคนมีคุณธรรม “ไม่โกง” จึงถือว่าเป็นการเปิดทางนำร่องและโหมโรงเรื่องคุณธรรมเป็นอย่างดี
ผมว่าการศึกษาไทยควรเปลี่ยนวิธีการคิดและการจัดการได้แล้ว ถ้าเป็นไปได้อยากให้ย้อนกลับไปคิดถึงคำขวัญเก่าๆ แต่ยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน คือ “คุณธรรมนำความรู้” โดยขอให้ถือหลักตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) การศึกษา 2) คุณธรรม 3) ความรู้ 4) คุณภาพ และ 5) การบูรณาการ
การศึกษาของมนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จะขาดไม่ได้ ยิ่งมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยแล้ว จะทำให้ความรู้เกิดความสมดุลภายในและอยู่ในกรอบแห่งความดีงาม สามารถนำไปสู่การสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพราะมีทั้ง “ดีนอก” และ “ดีใน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามนุษย์รู้จักนำความรู้ไปใช้อย่างบูรณาการเชื่อมโยงในหลายด้านด้วยแล้ว ผมว่าการศึกษาไทยที่ปฏิรูปใหม่จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไป ให้ลำดับความสำคัญผิด อาทิ เน้นคุณภาพมาก แต่นักเรียนขาดคุณธรรมผ่านการแสดงออกทางพฤติกรรมความเสื่อมของคุณธรรมอย่างชัดเจน ภายใต้อิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยมและสุขนิยม หรือการเรียนเพียงเพื่อให้ได้วุฒิบัตรหรือใบปริญญา เป็นเส้นทางแสวงหารายได้และผลประโยชน์เพื่อตนเอง มิใช่เพื่อสังคม การศึกษาจึงเป็นเหมือน “หมาหางด้วน” ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ ซึ่งมีแต่เน้นความรู้ทางหนังสือ รู้แต่อาชีพ ไม่มีธรรมะสำหรับให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องสมบูรณ์
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็มีแต่จะทำให้การศึกษาไร้ค่า เพราะคนเรียนแล้วไป “โกงชาติบ้านเมือง” ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ข้อนี้จึงตกไป ตอนนี้และเวลานี้ “ต้องคุณธรรมนำทุกอย่าง” ควรให้ “พื้นที่คุณธรรม” มีบทบาทมากและเด่นขึ้นในเรื่องการศึกษาไทย อันจะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนเริ่มตระหนักรู้และพื้นฟูความดี ขณะที่การศึกษาไทยตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ผมเห็นด้วยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อ “พลิกโฉมการศึกษาไทยใหม่” เป็นการชอบแล้ว เพราะถ้าขืนช้ากว่านี้ การศึกษาไทย “อาจไม่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม”
ฉะนั้นการศึกษาไทยที่กำลังประสบปัญหานี้ จึงจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป สมแล้วที่ว่า “เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ผศ.ดร.โกวิทย์ พิมพวง
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 22 เมษายน 2559