"ดาว์พงษ์" ออกปากต้องทบทวนหลักเกณฑ์เกลี่ยครู ว่ามีปัญหาตรงไหน ลั่นไม่เข้าใจเป็นสิบๆ ปี ทำไมถึงเกลี่ยไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โรงเรียนที่ขาดแคลนครูก็ยังขาดเหมือนเดิม พร้อมเดินทางตรวจเยี่ยมการทำงาน กศจ.
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตนได้แจ้งที่ประชุมว่าในการประชุมประจำเดือนพฤษภาคมของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตนพร้อมทั้งรัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะแบ่งกันเดินสายเยี่ยม กศจ. พร้อมทั้งเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อรับฟังปัญหาข้อขัดข้องของแต่ละพื้นที่ และในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ตนจะเชิญศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด มาประชุมรับฟังปัญหาในการทำงานของ กศจ. ทั้งนี้ ในที่ประชุมสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้มาสรุปข้อมูลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต แบบรายวิชามานำเสนอ แต่ตนขอให้ สทศ.นำข้อมูลการสอบโอเน็ตแบบรายเขตพื้นที่การศึกษามาให้เพิ่มเติม เพราะข้อมูลการสอบโอเน็ตแบบรายเขตพื้นที่ฯ จะทำให้ทราบว่าโรงเรียนแต่ละพื้นที่มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งให้ กศจ.ไปศึกษาภาพรวมและพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่อไป
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังขอดูข้อมูลย้อนหลังในเรื่องการเกลี่ยครูด้วย ซึ่งทราบว่าหลักเกณฑ์การเกลี่ยครูระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การบรรจุโยกย้ายข้าราชการครูต้องเกลี่ยไปยังโรงเรียนที่มีอัตราขาดแคลนครูจำนวนมากก่อน ส่วนโรงเรียนใดที่ยังมีอัตราขาดแคลนน้อยก็ยังไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการ แต่ตนไม่เข้าใจว่าเมื่อหลักเกณฑ์เขียนไว้ชัดเจนแล้วผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ทำไมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาเกลี่ยครูได้ ดังนั้นตนจะมาทบทวนปัญหาการเกลี่ยครูใหม่ว่าหลักเกณฑ์ที่ผ่านเกิดปัญหาตรงไหน พร้อมวางแผนการเกลี่ยครูในอนาคต โดยเมื่อแผนการเกลี่ยครูตกผลึกก็จะมอบให้ กศจ.ใช้เป็นข้อมูลวางแผนบรรจุครูต่อไป
ส่วนความคืบหน้าในการเรียกบรรจุครูผู้ช่วยซึ่งจะครบกำหนดการขึ้นบัญชี 2 ปี วันที่ 2 พฤษภาคมนี้นั้น เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อการตั้ง กศจ.อาจเกิดปัญหา บางเขตพื้นที่ฯ เรียกบรรจุได้ทันตามกำหนด จะมาดูว่าจะคืนสิทธิ์ให้ได้ด้วยวิธีการอย่างไร ตรงนี้เราจะไม่ทอดทิ้ง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน และหากมีใครมาหลอกเรียกเงิน แล้วบอกว่าจะได้รับการบรรจุก่อนนั้น ขออย่าไปหลงเชื่อ โดยผมได้มอบหมายให้ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. รวบรวมปัญหาการเรียกบรรจุครูผู้ช่วยทั้งหมดอยู่
"ในการสอบครูผู้ช่วยรอบใหม่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้น เรื่องนี้มีวงรอบอยู่แล้ว และเชื่อว่าจะดำเนินการจัดสอบทันแน่นอน ซึ่งตนไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบอะไร เพราะเดิมการจัดสอบเป็นอำนาจของเขตพื้นที่ฯ แต่การจัดสอบรอบใหม่ครั้งนี้ก็จะมี กศจ.เป็นผู้ดำเนินการแทน แม้แนวคิดตนต้องการให้การสอบครูผู้ช่วยได้ใช้ข้อสอบกลาง แต่คิดว่ายังคงทำไม่ได้ในตอนนี้ ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามเดิม คือให้จังหวัดเป็นผู้ออกข้อสอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่งตัวเสร็จก็อาจจะนำไปสู่การปรับข้อสอบครูผู้ช่วยให้ใช้ข้อสอบกลางได้" รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องการเรียกรับเงินเพื่อเรียกบรรจุครูผู้ช่วยมาที่ตน แต่ก็กำลังรอในแต่ละเขตพื้นที่ฯ ว่าจะมีการรายงานมาหรือไม่ และในส่วนกรณีที่ครูอัตราจ้าง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 (สพป.นศ.2) จำนวน 8 ราย ซึ่งขึ้นบัญชีครูผู้ช่วย กังวลว่าจะได้รับการบรรจุไม่ทันก่อนบัญชีจะหมดอายุในวันที่ 26 เมษายนนี้ จึงร้องเรียน กศจ.นครศรีธรรมราช ว่าไม่ได้นำเรื่องการบรรจุครูผู้ช่วยเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม กศจ.นัดแรก ในเรื่องนี้ตนได้เชิญผู้แทน สพฐ.ที่เป็นหนึ่งใน กศจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นคนบรรจุวาระดังกล่าวมาสอบถามข้อเท็จจริง ทราบว่าเหตุที่ไม่บรรจุเรื่องดังกล่าวในวาระการประชุม เพราะได้รับการประสานมาส่วนตัว ไม่ได้เป็นไปตามวาระการประชุม ดังนั้นจึงอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของผู้แทน สพฐ.ว่าการนำเรื่องการบริหารงานบุคคล เพราะเป็น หน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด และการกระทำในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดความโกลาหลได้ อย่างไรก็ตาม การจะบรรจุได้จะต้องกำหนดอัตราว่างในแต่ละพื้นที่ก่อน ซึ่งจะเป็นไปตามสาขาที่แต่ละแห่งขาดแคลน โดยผู้ที่มีรายชื่อขึ้นบัญชีไว้ก็อาจไม่ได้ถูกเรียกบรรจุทุกคน และคนที่ไม่ถูกเรียกบรรจุก็ไม่ต้องเสียใจ หากเรามีความสามารถก็สามารถสมัครสอบในครั้งต่อไปได้.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 21 เมษายน 2559