สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ตามที่ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีกำหนดให้คณะของ ปอมท. เข้าพบเพื่อรายงานผลการสำรวจความเห็นของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เรื่อง "การเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียน" ด้วยนั้น คณะทำงานได้เตรียมการชี้แจงเหตุผลประกอบ 10 ประการ ที่เป็นความเสียหายจากการเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียนในรอบเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้
1.เป็นการบั่นทอนคุณภาพการเรียนการสอนโดยตรง ประเด็นนี้นับว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นผลเสียต่อภารกิจหลักประการแรกของมหาวิทยาลัย ซึ่งภารกิจนี้กำลังถูกบั่นทอนคุณภาพลงอย่างชัดเจนจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเฉพาะภาคเรียนที่สอง จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่มีผล ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้ไม่มีความพร้อมทั้งผู้เรียนและผู้สอน กิจกรรมเสริมการเรียนหลายกิจกรรมไม่สามารถปฏิบัติได้ อีกทั้งกิจกรรมการเกณฑ์ทหารและวันหยุดที่มีมากในช่วงเดือนเมษายน ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเรียนรักษาดินแดน (รด.) ของนักศึกษาชั้นปีต่างๆ ในภาคเรียนที่หนึ่งด้วย แม้แต่การฝึกงานและการทำสหกิจศึกษาก็ล้วนแต่มีปัญหาแทบทั้งสิ้น
2.เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นภารกิจสำคัญ 1 ใน 4 ของทุกมหาวิทยาลัย แต่การที่นักศึกษาต้องมาเรียนใน ช่วงเดือนเมษายน ทำให้นักศึกษาไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรม ทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ที่มีมากมาย ในช่วงเวลาดังกล่าว มีทั้งวันพระใหญ่ วันปีใหม่ (ไทย) วัน ผู้สูงอายุ วันครอบครัว และวันเช็งเม้ง ฯลฯ ซึ่งการ ห่างเหินจากกิจกรรมเหล่านี้ตลอดช่วงเวลาที่เรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ย่อมอาจทำให้บัณฑิตที่จบออกมาขาด จิตวิญญาณของความเป็นไทยไปได้ไม่มากก็น้อย หรือ อาจมากถึงขั้นลืมกำพืดตนเองก็เป็นได้ เพราะนักศึกษา อยู่ในวัยที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว มาก
3.เป็นอุปสรรคต่อการสมัครงานของบัณฑิตจบใหม่ เนื่องจากเทอมที่สองเลื่อนมาคร่อมเวลาเกณฑ์ทหารและช่วงเวลาที่บริษัทเปิดรับสมัครงาน ทำให้บัณฑิตที่จบใหม่ไม่มีใบ สด.9 ที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการสมัครงาน ซึ่งบัณฑิตจบใหม่จะต้องรอไปเกณฑ์ทหารในปีถัดไป หรือถ้านักศึกษาชั้นปีสุดท้ายไม่ขอผ่อนผันต่อ และเสี่ยงเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
หากนักศึกษาถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารก็จะต้องพักการเรียนไปเป็นปี ซึ่งล้วนทำให้บัณฑิตจบใหม่เสียโอกาสในการหางานทำไปเป็นอันมาก
4.ขาดความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษาของชาติ (การศึกษาขั้นพื้นฐานกับอุดมศึกษา) เนื่องจากนักเรียนชั้น ม.6 จะจบ (การศึกษาขั้นพื้นฐาน) ตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่มหาวิทยาลัย (อุดมศึกษา) จะเปิดเรียนเทอมแรกในเดือนสิงหาคม นักเรียนต้องว่างอยู่นาน 5-6 เดือน ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวนักเรียนและผู้ปกครองเพราะขาดความต่อเนื่องในการศึกษา นอกจากนี้การที่การจัดการเรียนการสอนไม่ตรงกันระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับอุดมศึกษา ทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างกันเกิดความยุ่งยากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งการฝึกสอนของนักศึกษาด้านวิชาการศึกษาหรือครุศาสตร์ที่เกิดความยุ่งยากเป็นอย่างมาก
5.สวนทางกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล 2 นโยบาย เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเพราะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ควรสนับสนุนนโยบายรัฐบาล แต่มหาวิทยาลัยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ทุกปี ดังนี้
5.1 นโยบายลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ใน ขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้า แต่การเรียนในช่วงฤดูร้อนของมหาวิทยาลัย กลับทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทั้งนี้ดูได้จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2558 ที่เกิดสถิติใหม่ขึ้นถึง 3 ครั้งซ้อน
5.2 นโยบายการประหยัดน้ำในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำ ให้เกษตรกรงดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งออกมาตรการมารองรับอีกหลายมาตรการ แต่การเปิดเรียนของมหาวิทยาลัยในช่วงนี้ทำให้มีการใช้น้ำมากขึ้น ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมสภาวะภัยแล้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น
6.มีความเสี่ยงสูงสุดจากพายุหมุนเขตร้อน (ฝนตกน้ำท่วมในเดือนตุลาคม) จากเดิมที่เคยปิดเทอมย่อยใน ช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีสถิติพายุหมุนเขตร้อนเข้าถึงประเทศไทยได้มากที่สุด แต่กลับมาเปิดเทอม ในช่วงเดือนนี้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะต้องเผชิญ กับปัญหาฝนตกน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว ซึ่ง จะมีผลกระทบถึงการเรียนการสอนด้วยอย่างแน่นอน
7.เกิดความไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาการประเมินผลงานและการประกันคุณภาพ ทั้งการประเมินผลงานและการประเมินของระบบประกันคุณภาพเดิมจะครบรอบประเมินในเดือนกันยายน แต่เมื่อการเรียนในเทอมแรกคร่อมเลยไปอีกถึง 2 เดือน จึงเกิดการลักลั่นในการประเมินผลงานและความยุ่งยากในการดำเนินงานของระบบการประกันคุณภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
8.เกิดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่สอดรับกับกิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งนี้ เนื่องจากเดือนกันยายนเป็นช่วงปิดงบประมาณประจำปี แต่การเรียนการสอนของเทอมแรกยังไม่สิ้นสุด (คร่อมช่วงปิดงบประมาณถึง 2 เดือน)
การเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมการเรียนการสอนจึงติดขัด มีทั้งการเบิกจ่ายล่วงหน้าและการเบิกจ่ายย้อนหลัง หลายอย่างหลายรายการจำเป็นต้องเสี่ยงกระทำผิดวิธีการงบประมาณเพื่อให้กิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินต่อไปได้
9.เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่นักศึกษาจบช้าไป 2 เดือนอย่างต่อเนื่องตลอดไป การที่นักศึกษาต้องจบช้าไปจากเดิมถึง 2 เดือนนั้น (ต้องจบการศึกษาปลายเดือนพฤษภาคมแทนที่จะจบปลายเดือนมีนาคมแบบเดิม) นับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 เดือน และเกิดค่าเสียโอกาสในการทำงานอีก 2 เดือนด้วยเช่นกัน ประมาณการคร่าวๆ ไม่น้อยกว่ารายละ 3-4 หมื่นบาท และเมื่อคิดจากจำนวนนักศึกษานับแสนรายต่อปี จึงเกิดเป็นความเสียหายที่แฝงอยู่ในระบบเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
10. สูญเสียสัมพันธภาพในครอบครัวและเครือญาติจากช่วงเวลาหยุดของสมาชิกที่ไม่ตรงกัน เรื่องนี้สร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้กับทุกครอบครัวที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน เพราะความเหลื่อมล้ำของช่วงวันหยุดทำให้ต้องลดหรือยกเลิกกิจกรรมที่เคยกระทำร่วมกันของครอบครัวและเครือญาติลงไป เช่น กิจกรรมในวันเกิดของสมาชิก วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว และวันรวมญาติ เป็นต้น ก่อให้เกิดความห่างเหินของสมาชิกทั้งในครอบครัวและในระบบเครือญาติ ซึ่งทำให้สูญเสียสัมพันธภาพอันดีในครอบครัวและเครือญาติลงไปอย่างน่าเสียดายไม่มากก็น้อย
เหตุผลทั้ง 10 ประการที่ยกมานี้ น่าจะทำให้ รมต.ศธ. เข้าใจปัญหาได้อย่างชัดเจน และน่าจะหาทางแก้ไข โดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งปล่อยไปนาน นับวันจะยิ่งเกิดความเสียหายมากและแก้ไขยากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้คงจะไม่มีวิธีการใดดีไปกว่าการยกเลิกการเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียน (ที่อุปโลกน์กันขึ้นมา) และกลับมาเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามแบบเดิม
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2559 (กรอบบ่าย)