"ชีพจรครู" ฉบับนี้มีข่าวดีๆ มา บอกเล่าให้เพื่อนครูได้ติดตามเช่นเคย ประเด็นร้อนหนีไม่พ้น "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา รวม 225 คณะ และตั้งองค์กรใหม่คือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) 77 คณะ ขึ้นมาทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลแทน อ.ก.ค.ศ.เดิม
ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการ กศจ.และ อกศจ. ตัวจริง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ กศจ.ชั่วคราวขึ้น โดยเสนอรายชื่อผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนครูและผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้คัดเลือก เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหางานบุคคลที่เร่งด่วน โดยงานแรกที่สั่งเดินเครื่องทันทีคือ การเรียกบรรจุครูผู้ช่วยที่ขึ้นบัญชีและกำลังจะครบกำหนด 2 ปีในปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยล่าสุดมีเพียง 12 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เท่านั้นที่ อ.ก.ค.ศ.ได้กลั่นกรองรายชื่อแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 213 เขตพื้นที่ฯ อ.ก.ค.ศ.เดิมยังไม่ได้ตั้งคณะกลั่นกรอง ดังนั้นจึงให้เป็นหน้าที่ของ กศจ.ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองต่อไป นอกจากนั้นยังรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายครู และพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครูด้วย
ล่าสุด นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ได้ลงนามในคำสั่ง ศธ. เรื่อง กศจ.ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของ กศจ.ใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ให้ กศจ.แต่ละจังหวัดจัดประชุมโดยทันทีที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเร่งพิจารณางานที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะงานที่มีกรอบระยะเวลาจำกัด เช่น การพิจารณาเลื่อนเงินเดือน การพิจารณาบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย เป็นต้น 2.การปฏิบัติหน้าที่ของ กศจ.ตามข้อ 1. หากเป็นงานที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองมาโดยชอบแล้ว ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองใหม่ และ 3.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานให้แก่ กศจ.
ทราบว่า กศจ.หลายจังหวัดได้เริ่มประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ ไปบ้างแล้ว และอีกส่วนที่คงต้องจับตาคือรายชื่อ อกศจ.ในแต่ละจังหวัดว่าจะมีใครบ้าง เพราะถือว่ามีความสำคัญที่จะเข้ามารับผิดชอบงานด้านวินัย วิทยฐานะ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้าย
โดย นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายถึงการโยกย้ายและการเรียกบรรจุครูผู้ช่วยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ว่า การเรียกบรรจุครูผู้ช่วยจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่มีการโยกย้ายครูเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาครูได้ยื่นความประสงค์ขอย้ายไปยัง อ.ก.ค.ศ.เดิมแล้ว โดย กศจ.ต้องเร่งดำเนินการให้เรียบร้อยภายในสิ้นเดือนเมษายน จากนั้นเขตพื้นที่ฯแต่ละแห่งจึงจะสามารถแจ้งอัตราว่างที่ชัดเจนและเรียกบรรจุในพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ขึ้นบัญชีอยู่ประมาณ 8,000 กว่าคน ใน 73 เขตพื้นที่ฯ 31 กลุ่มวิชา ส่วนอัตราว่างที่เหลือจะไปรวมและเปิดสอบแข่งขันครูผู้ช่วยครั้งต่อไป
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศเลื่อนการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน โดยนายสุเทพแจ้งว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้ยุบเลิก อ.ก.ค.ศ. และให้โอนอำนาจหน้าที่ไปอยู่ในการกำกับดูแลของ กศจ. ซึ่งต้องดูแลเรื่องการจัดสอบครูผู้ช่วยด้วย ดังนั้น สพฐ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการสอบแข่งขันดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งเดิมต้องประกาศรับสมัครสอบแข่งขันตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม รับสมัครสอบแข่งขันวันที่ 4-10 เมษายน
ส่วนปฏิทินสอบครูผู้ช่วยใหม่ จะเป็นเมื่อไรนั้น คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด "ชีพจรครู" ไม่ลืมนำข่าวคราวความคืบหน้ามาบอกต่อแน่นอน...
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 20 เม.ย. 2559 (กรอบบ่าย)