นายอดิศักดิ์ มุ่งชู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) และรองศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เลย เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมทำหนังสือถึงเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ไม่ได้ห้ามเด็กเรียนไม่ผ่านซ้ำชั้นได้ เพียงแต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนไม่ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น อ่านออกเขียนได้ และได้นำเสนอข้อมูลผลการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการเรียนซ้ำชั้นให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ระบุว่าถ้าจะใช้แนวทางให้เด็กเรียนซ้ำชั้นจริง ก็ควรต้องให้โอกาสซ่อมเสริมก่อนนั้น ว่า ความจริงแนวทางให้เด็กเรียนซ้ำชั้นนั้น โรงเรียนต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้ว อย่างสมัยที่ตนเป็นผู้อำนวยการ สพม.เขต 26 (มหาสารคาม) ในปี 2556-2557 มีโรงเรียนในสังกัดให้นักเรียนตกซ้ำชั้นอยู่หลายราย หลังซ่อมเสริมแล้วผลการเรียน และพฤติกรรมของเด็กไม่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อทางโรงเรียนเอาจริงโดยการเชิญผู้ปกครองมารับรู้ว่าจะต้องให้เด็กซ้ำชั้น ผู้ปกครองจะย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนอื่นแทน ลักษณะที่พบคือมักย้ายไปโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่กี่คน และโรงเรียนต้นทางก็ไม่ได้ติดตามต่อว่าหลังย้ายโรงเรียนแล้ว เด็กมีผลการเรียนอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่เด็กรักโรงเรียนเดิมมาก และขออยู่โรงเรียนเดิมแม้จะต้องซ้ำชั้น โดยตนเคยพบลักษณะนี้ 4-5 คน ซึ่งเด็กก็ยอมรับว่าเป็นผลจากพฤติกรรมตัวเอง เช่น เถลไถล ไม่สนใจเรียน ไม่มาสอบ เนื่องจากติดเพื่อน มีความรัก เป็นต้น แต่หลังจากเรียนซ้ำชั้น เด็กจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็หันมาตั้งใจเรียนดีขึ้น
นายอดิศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการให้เด็กเรียนซ้ำชั้นได้นั้น ส่วนตัวมองว่ามีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือเด็กรับรู้ว่าถ้าไม่ตั้งใจเรียน ก็ยังมีมาตรการให้ตกซ้ำชั้นอยู่ ซึ่งจะเป็นการป้องปราม เด็กจะได้ตั้งใจเรียน แต่ข้อเสียคือระบบการศึกษาโดยรวมยังไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องการคัดกรอง โดยเด็กบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองไม่ถนัดกับสายนั้นๆ เช่น สายวิทย์-คณิต จึงอาจทำให้ผลการเรียนต่ำ ซึ่งแม้จะซ่อมเสริมอย่างไร ผลการเรียนก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้น่าสงสารถ้าต้องถูกลงโทษโดยการให้ตกซ้ำชั้น อย่างไรก็ตาม ถ้า สพฐ.มีหนังสือเน้นย้ำนโยบายเรื่องนี้มายังเขตพื้นที่ฯ ตนจะกำชับโรงเรียนในสังกัดให้ปฏิบัติตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการลิดรอนสิทธิของเด็กหรือไม่ถ้าให้เรียนซ้ำชั้น นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะเป็นกฎกติกากลางที่กำหนดว่าถ้าซ่อมเสริมแล้วเด็กไม่ดีขึ้น คือซ่อมอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลการเรียนยังไม่ดีขึ้น กรณีนี้ถึงจะให้ตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ใช่ว่าจะไปหน่วงเหนี่ยว หรือกลั่นแกล้งเด็ก โดยส่วนตัวมองว่าถ้าให้ซ่อมเสริมแล้วแต่ผลการเรียนยังไม่ดีขึ้น การให้เลื่อนชั้นขึ้นไปก็อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก และเด็กคนอื่นโดยรวมได้
นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 17 กลุ่มจังหวัดเพชรบููรณ์ พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย กล่าวว่า เรื่องให้เด็กตกซ้ำชั้น ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ทั้งข้อดี และข้อเสีย ฝ่ายที่ไม่อยากให้เด็กตกซ้ำชั้น มองว่าจะกลายเป็นตราบาปของเด็ก ด้านจิตวิทยาส่งผลให้เด็กสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง นอกจากนี้ มองว่าสูญเสียโอกาส สูญเสียทรัพยากร และสูญเสียเวลา ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุน มองว่าในเมื่อผลการเรียนของเด็กไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานหลักสูตร ก็ควรให้เด็กเรียนซ้ำชั้น เพื่อเพิ่มเติมคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ควรร่วมกันดูแลเด็ก เพราะแต่ละคนอาจมีปัญหาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ หากเป็นนโยบายของ ศธ.ในส่วนของตนพร้อมที่จะนำไปช่วยชี้แจงทำความเข้าใจในที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)
พระมหาวิจิตร กลฺยาณจิตโต ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 1 และผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติมหาสวัสดิ์วิทยา วัดมหาสวัสดิ์นาคพุฒาราม จ.นครปฐม กล่าวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ ที่เปิดสอนสำหรับพระภิกษุสามเณร ได้ใช้หลักสูตรเดียวกันกับ ศธ.โดยเริ่มจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2514 มีจำนวน 407 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิภาคออกเป็น 14 กลุ่ม โดยตำแหน่งประธานกลุ่มเทียบเท่าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาใช้นโยบายเรียนซ้ำชั้นมาโดยตลอด จนเมื่อปี 2542 เป็นต้นมา มีการปฏิรูปการศึกษา รวมถึง มีนโยบายห้ามนักเรียนซ้ำชั้น จึงทำให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้องระมัดระวังในการพิจารณาใช้นโยบายดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีที่นักเรียนสอบไม่ผ่านจริงๆ คณะกรรมการโรงเรียนต้องพิจารณาให้เรียนซ้ำชั้นเป็นรายๆ ไป แม้ ศธ.จะมีนโยบายห้ามไว้ก็ตาม เพราะมองว่าถ้าปล่อยให้เลื่อนชั้น จะกลายเป็นภาระของเพื่อนๆ ในอนาคต
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับการนำนโยบายเรียนซ้ำชั้นกลับมาใช้ เพราะจะทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น สามารถวัดคุณภาพการศึกษาได้จริง ที่ผ่านมานักเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียนเพราะมองว่าเมื่อไม่มีนโยบายเรียนซ้ำชั้น จะเรียนอย่างไรก็สอบผ่าน ดังนั้น เมื่อนำนโยบายนี้กลับมาใช้ จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง” พระมหาวิจิตรกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2559